เสี้ยวดอกแดง

ชื่อวงศ์-อนุวงศ์ : LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bauhinia purpurea L.

ชื่อสามัญ : Orchid tree, Purple bauhinia

ชื่อพื้นเมืองอื่น : กะเฮอ, สะเปซี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ชงโค (ภาคกลาง) ; เสี้ยวดอกแดง (ภาคเหนือ) ; เสี้ยวหวาน (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้นขนาดเล็ก (ExST) สูงประมาณ 5-10 เมตร ผลัดใบ ลักษณะเป็นพุ่มเรือนยอดทรงกลมแตกกิ่งก้านสาขาไม่มากนัก เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลเทา ผิวเกลี้ยงและเรียบ

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเป็นคู่ตามข้อต้น ลักษณะใบรูปรีค่อนข้างกลม ปลายใบเว้าลึก รูปไตสองอันติดกัน โคนใบมนหรือเว้า ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาสีเขียวเข้ม เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบสีเขียวอ่อนปนขาว ก้านใบสั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยม

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็กแบบสมมาตรตามรัศมี มีกลีบดอก 5 กลีบ ตั้งแต่สีชมพูถึงสีม่วงเข้มออกดอกได้ตลอดปี

ผล เป็นฝักแบน เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก กว้าง 1-2 ซม. ยาวประมาณ 20-25 ซม.

เมล็ด ลักษณะกลม มีประมาณ 10 เมล็ด

นิเวศวิทยา

เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนทั่วไป ได้แก่ อินเดียไปจนถึงมาเลเซีย เกิดตามป่าดงดิบเขาและป่าโปร่งทั่วไป ขึ้นได้ในทุกภาคของประเทศ

การปลูกและขยายพันธุ์

เป็นไม้กลางแจ้ง โตช้า สามารถปลูกขึ้นได้ในดินทุกสภาพ หรือดินทั่วๆ ไป ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือ การตอน ซึ่งอาจจะปลูกลงหลุมเลยหรือเพราะเป็นกล้าก่อนแล้วค่อยย้ายลงไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ราก รสเฝื่อน เป็นยาระบายพิษไข้ ขับลม

เปลือก รสเฝื่อน แก้บิด แก้ท้องร่วง

ใบ รสเฝื่อน รักษาอาการไอ ใช้พอกฝี พอกแผล

ดอก รสเฝื่อน ใช้ผสมกับสมุนไพรตัวอื่นเป็นเครื่องยา แก้ไข้ เป็นยาระบาย

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. ช่วยขับลม ระบายพิษไข้ โดยใช้รากสด 10-15 กรัม หรือแห้งประมาณ 5-7 กรัม นำมาต้มในน้ำสะอาด 500 ซีซี เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ดื่มหรือจิบแทนน้ำชา
  2. แก้อาการไอ โดยใช้ใบสด 10 กรัม ล้างให้สะอาดนำมาต้มในน้ำ 500 ซีซี ประมาณ 10 นาที แล้วกรองเอาน้ำจิบและอมกลั้วคอ

สิ่งที่น่าสนใจ