มันแกว (Yam Bean)

มันแกวเป็นพืชเถาเลื้อยตระกูลถั่ว ส่วนที่กินได้คือรากสะสมอาหารขนาดใหญ่ใต้ดิน ที่เรียกกันว่า หัวมันแกว มีลักษณะมนกลมปลายเรียวแหลม เปลือกเหนียวบางสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีขาว กรอบฉ่ำ หัวมันแกวอ่อนนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน หรือกินหัวสดเหมือนกินผลไม้ ฝักอ่อนต้มจิ้มน้ำพริก ทางภาคอีสานนิยมนำฝักอ่อนและเมล็ดอ่อนมากินกับส้มตำ

หัวมันแกวสดให้ความฉ่ำกรอบสดชื่นเหมือนเนื้อผลไม้ ทั้งช่วยดับร้อนร่างกายได้เป็นอย่างดี เพราะในเนื้อมันแกว 100 กรัม เป็นน้ำถึง 90.5 กรัม หัวมันแกวยังมีคาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม โปรตีน 0.9 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม แคลเซียม 9 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 16 มิลลิกรัม เหล็ก 0.5 มิลลิกรัม ไทอะมิน 0.03 มิลลิกรัม ไนอะซิน 0.3 มิลลิกรัม และวิตามินซี 9 มิลลิกรัม รสหวานของเนื้อมันแกวมาจากสารอินูลิน (Inulin) ซึ่งเป็นน้ำตาลโอลิโกฟรุกโทส (Oligofructose) ที่ร่างกายเราไม่สามารถเผาผลาญได้ มันแกวจึงเหมาะสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

เมื่อมีประโยชน์ก็ย่อมมีโทษ ที่พึงระวังคือ ใบแก่และฝักแก่มันแกวมีพิษ โดยเฉพาะเมล็ดในฝักแก่มีสารพิษชื่อ โรทีโนน (Rotenone) เพชีไรซิด (Pachyrrhizid) มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลงศัตรูพืช สูตรยากำจัดหนอนและเพลี้ยเตรียมได้ง่าย ๆ โดยการใช้เมล็ดมันแกว 1/2 กิโลกรัม บดละเอียด ละลายในน้ำ 5 ปี๊บ ตั้งทิ้งไว้ 1 วัน และกรองเอาแต่น้ำ ก่อนใช้ต้องผสมน้ำอีก 5 เท่า จึงนำไปฉีดพ่นแปลงพืชผัก เมล็ดมันแกวยังมีสารซาโปนิน ซึ่งเป็นสารละลายน้ำได้ หากละลายลงในแหล่งน้ำจะทำให้ปลาตาย ส่วนในใบแก่มีสารเพชีไรซิด มีพิษต่อวัวและควาย

เมื่อกินเมล็ดมันแกวเข้าไปจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหากสูดดมสารนี้เข้าไป พิษจะรุนแรงยิ่งกว่า เพราะจะไปกระตุ้นระบบหายใจ กดการหายใจ เกิดอาการชัก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ การช่วยเหลือผู้ได้รับสารพิษเบื้องต้น คือ ให้ดื่มนมและไข่ดาว ทำให้อาเจียน เพื่อกำจัดพิษในกระเพาะอาหารและลดการดูดซึมสารพิษ

สิ่งที่น่าสนใจ