เห็ดหอม (Shiitake Mushroom)

เห็ดหอม มีชื่อทับศัพท์เป็นภาษาญี่ปุ่นและชื่อภาษาอังกฤษว่า ชิตาเกะ (Shiitake) เห็ดหอมนอกจากจะเป็นอาหารแสนอร่อยแล้วยังมีคุณค่าสารอาหารและมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังชั้นดี จนได้ชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ เห็ดหอมกินได้ทั้งดอกสดและดอกแห้ง คนจีนนิยมกินเห็ดหอมเนื้อหนาเก็บในฤดูหนาว ที่เรียกว่า ตังโกว แต่เห็ดหอมสดที่ผลิตได้ในไทยจะมีดอกบาง เนื้อไม่แน่น ไม่เหมาะที่จะทำเป็นเห็ดหอมแห้ง

เห็ดหอมแห้งคุณภาพดี ต้องมีสีสดแห้งสนิท ดอกเห็ดใหญ่ บนดอกมีรอยปริแตกเป็นร่องลึก ลายขาวดำ เห็ดหอมปรุงเข้ากันได้ดีกับเนื้อสัตว์ ในสูตรเครื่องยาจีนจะใส่เห็ดหอมเพื่อเสริมฤทธิ์ทางยาของเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ตัวเมีย อาหารที่นิยมปรุงด้วยเห็ดหอม เป็นอาหารประเภทผัด แกงจืด ตุ๋น โจ๊ก แต่ขอแนะนำว่าเห็ดหอมดูดซับความเค็มได้ดี จึงควรระวังการปรงรสด้วยเกลือ น้ำปลา หรือซอสอื่นๆ ผู้ที่ห้ามกินเห็ดหอมคือ สตรีหลังคลอด ผู้ป่วยหลังฟื้นไข้ และผู้ที่เพิ่งหายจากการออกหัด

เห็ดหอมสด 100 กรัม ให้พลังงาน 26.61 กิโลแคลอรี โปรตีน 2.19 กรัม ซึ่งมีกรดอะมิโนอยู่ 21 ชนิด ที่โดดเด่นคือ กรดกลูตามิกที่เป็นผงชูรสตามธรรมชาติของเห็ดหอมมีอยู่สูงถึง 355 มิลลิกรัม เห็ดหอมจึงถูกยกให้เป็น ยอดแห่งความหอมอร่อย ในการปรุงอาหารจีน มีคาร์โบไฮเดรต 4.19 กรัม ไขมัน 0.12 กรัม วิตามินบี 2 และไนอะซิน ปริมาณโซเดียมต่ำเหมาะสำหรับคนเป็นโรคไต มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง

งานวิจัยในญี่ปุ่นพบสารสำคัญที่สกัดจากเห็ดหอมหลายชนิด เช่น เลนติแนน (Lentinan) ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้มีประสิทธิภาพในการต่อสู้ ยับยั้ง หรือป้องกันการเติบโตของเซลล์เนื้องอกและมะเร็งได้ดี กรดอะมิโนชื่อ อิริทาดีนีน (Eritadenine) ช่วยให้ไตย่อยคอเลสเตอรอลได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ปริมาณไขมันในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลลดลง ป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ และจากการวิเคราะห์ของนักโภชนาการพบว่า เห็ดหอมมีสารเออร์โกสเตอรอล (Ergosterol) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ กลไกรังสียูวีจะไปเปลี่ยนสารเออร์โกสเตอรอลในผิวหนังให้เป็นวิตามินดี ที่ช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันโรคกระดูกผุ โรคโลหิตจางได้

สิ่งที่น่าสนใจ