กระทุงหมาบ้า

ชื่อวงศ์ : ASCLEPIADACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dregea volubilis (L.f.) Hook.f.

ชื่อสามัญ : –

ชื่อพื้นเมือง : เครือเขาคลอน, ง่วนหมู, เครือเถาหมู, ฮ้วนหมู (ภาคเหนือ) ; กระทุงหมาบ้า, กระทุงหมาบ้า, คันชุนสนัขบ้า (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้เถา (C) เนื้อแข็ง มียางขาว ลำต้นเป็นเถ้ากลมเปลือกสีน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนและใบมีขนสั้น ๆ ประปรายหรือเกลี้ยง พาดพันไปตามต้นไม้ใหญ่หรือรั้ว ลำต้นแก่จะมีรอยแตกและมีจุดสีขาวอยู่ที่ผิวของต้น

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะใบรูปไข่สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง 5-8 ซม. ยาวประมาณ 8-15 ซม. ปลายใบแหลมเป็นติ่ง ขอบใบเรียบ โคนใบตัด กลมหรือเว้า เนื้อใบหนา แผ่นใบสีเขียวอ่อน ท้องใบสีเขียวเข้ม เส้นกลางใบมองเห็นชัดเจน ก้านใบยาว 3-5 ซม.

ดอก ออกดอกสีเขียวอ่อนอมเหลือง ออกเป็นช่อแบบช่อซี่ร่มตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ก้านช่อยาว ก้านดอกยาวเรียวเล็ก กลีบรองกลีบดอก 5 กลีบ รูปไข่แกมขอบขนาน กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันเป็นท่อที่โคน เวลาบานกลีบดอกจะกางออก ปลายแยกเป็นกลีบรูปสามเหลี่ยม เส้าเกสร 5 กลีบ กางออกมุมด้านในแหลมและติดกับฐานเกสรตัวผู้

ผล เป็นฝักคู่หรือเดี่ยว ลักษณะรูปหอกปลายตัดสีเขียวอ่อน และมีจุดตามผิวของฝัก ออกตรงข้ามกัน โคนฝักป่อง ปลายเรียว เปลือกฝักมีสีเหลือง ข้างในฝักมีเมล็ด

เมล็ด เมล็ดมันเป็นเงา ลักษณะรูปรีกว้างหรือรูปไข่ มีปีกและมีพู่สีขาวยาว 1.2 ซม.

นิเวศวิทยา

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงจีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบขึ้นทั่วทุกภาค ตามป่าดงดิบแล้ง ป่าละเมาะ ตามสวนป่าที่ลุ่มหรือริมน้ำตามชายป่า นิยมปลูกตามบริเวณบ้าน ริมรั้ว

การปลูกและขยายพันธุ์

เป็นไม้ที่มักขึ้นตามบริเวณที่มีความชื้นปากกลาง ทนแล้งได้ดีเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ขยายพันธุ์ด้วยการตัดเถาแก่หรือลำต้นมาปักชำในดินเพาะชำ และควรทำไม้ค้างให้เลื้อย

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ราก ทำให้อาเจียน กระทุ้งพิษ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ พิษฝี แก้ปัสสาวะพิการ แก้น้ำดีกำเริบ ช่วยให้นอนหลับ

รากและลำต้นอ่อน รสเอียนขม ทำให้อาเจียน

เถา รสเอียนขม ขับปัสสาวะ เป็นยาเย็น

ทั้งต้น รสเอียนขม แก้หวัด แก้โรคตา ทำให้จาม แก้งูกัด

เปลือกต้น รสเอียนขม เป็นแก้ไข้ แก้ปากเปื่อย แก้พิษสุนัขบ้า

ผล รสเอียนขม เป็นยารักษาโรคของสัตว์

ดอก รสเอียนขม เป็นยาล้างพิษ แก้พิษตกค้าง

ใบ รสเอียนขม แก้น้ำร้อนลวก แก้ฝี แก้บวม แก้บ่มฝี

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. รักษาโรคนิ่ว ปัสสาวะออกเป็นหนอง โดยใช้เปลือกต้นของทางกวาว เปลือกต้นจำปี เปลือกดอกแก้ว รากหญ้าขัดมอนใบมน และรากกระทุงหมาบ้า อย่างละเท่ากัน ตัดเป็นท่อนใส่หม้อดินเติมน้ำสะอาด 3 ส่วน ต้มและเคี่ยวให้เหลือน้ำเพียง 1 ส่วน กรองเอาน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 3 เวลา หลังอาหาร อาการจะดีขึ้น
  2. แก้ไข้ตัวร้อนในเด็ก โดยใช้เปลือกต้นกระทุงหมาบ้า รากผักหวานบ้านและนมผา อย่างละเท่ากันผสมในน้ำ แช่ไว้ประมาณ 30-60 นาที แล้วกรองเอาน้ำดื่ม

สิ่งที่น่าสนใจ