ว่านหอมแดง

ชื่อวงศ์ : IRIDACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eleutherine americana (Aubl.) Merr.

ชื่อสามัญ : –

ชื่อพื้นเมืองอื่น : บ่อเจอ, เพาะบีเบ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ว่านไก่แดง, ว่านเข้า, ว่านหมาก (ภาคเหนือ) ; ว่านเพลาะ (เชียงใหม่) ; ว่านหอมแดง, หอมแดง (ภาคกลาง)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก (ExH) มีหัวใต้ดินลักษณะรูปไข่ยาว คล้ายหัวหอมและแข็ง เปลือกหุ้มภายนอกหัวมีสีแดงจัด แต่กลิ่นไม่ฉุนเหมือนหัวหอม ลำต้นที่อยู่เหนือดินตั้งขึ้น โค้งหรือเอนนอนแต่ปลายโค้งขึ้น

ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรีรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ และมีรอยจีบ แผ่นใบสีเขียวค่อนข้างบาง เส้นกลางใบและเส้นใบมีขนาดเท่าๆ กัน ออกขนานตามแนวยาวของแผ่นใบ โดยที่เส้นใบจะนูนเป็นสันสลับเป็นร่องกว้างทั้งด้านบนและด้านล่าง

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีจำนวน 4-10 ดอก แทงช่อสูงจากลำต้นใต้ดินขึ้นมาระหว่างกาบใบ ดอกมีสีขาวขนาดเล็ก คล้ายดอกดาวเรือง มีกลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง ซ้อนกันอยู่ เกสรเพศผู้มี 3 อัน สีเหลืองสดติดอยู่ที่โคนกลีบดอก เกสรเพศเมียแยกเป็น 3 แฉก สีเหลือง

ผล รูปขอบขนาน หัวตัด มี 3 ช่อง เมล็ดรูปรีอัดกันแน่น

นิเวศวิทยา

เกิดตามป่าดิบราบต่ำ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือนและใช้เป็นยา

การปลูกและขยายพันธุ์

สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายหยาบหรือดินร่วนทั่ว ๆ ไป ขยายพันธุ์ด้วยหัว หรือต้นที่เกิดใหม่

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

เหง้าหัวใต้ดิน รสร้อนปร่า หอม แก้หวัด แก้ลมในกระเพาะอาหาร ต้านมะเร็ง ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา และลดการอักเสบ

ลำต้น รสหอมปร่า ขับเลือดในสตรี

ใบ รสเฝื่อน ใช้เป็นผักรับประทานได้

ดอก รสปร่าหอม แก้โรคตา แก้เด็กนอนสะดุ้ง ผวา

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. แก้อาการหวัด คัดจมูก หายใจไม่สะดวก และเป็นยาขับลมในลำไส้เด็ก แพทย์พื้นบ้านใช้เหง้าหัวใต้ดิน 3-5 หัวผสมกับว่านเปราะหอมปรุงเป็นยาสุมหัว
  2. แก้กลากเกลื้อนและโรคผิวหนัง โดยใช้เหง้าหัวใต้ดิน 5 หัว ล้างให้สะอาดโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย ใช้ทาและพอกบริเวณที่เป็น เช้า-เย็น น้ำยาที่ได้จากเหง้าหัวใต้ดินยังสามารถใช้ทาแผลเล็กๆ น้อยๆ แมลงกัดต่อย บดเป็นผงทาแก้ปวดท้องได้

สิ่งที่น่าสนใจ