หากรับประทานพืชผักน้อยจะเกิดอะไรขึ้นกับร้างกาย?

หากรับประทานพืชผักน้อยจะเกิดอะไรขึ้นกับร้างกาย?
                ทุกวันนี้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะเกิดความหวงแหนชีวิต อยากจะมีอายุยืนนานอยู่กับลูกหลานต่อไป อีกอย่างหนึ่งกระแสของสมุนไพรรวมถึงพืชผักผลไม้กำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วไปมากขึ้น

การนั้นก็ตาม….ยังคงมีคนจำนวนมากที่ไม่ค่อยจะชอบบริโภคพืชผัก และยังคงบริโภคอาหารเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่เอามาผัด ทอด ย่าง โดยเฉพาะ “อาหารมันๆ” ซึ่งอาหารพวกนี้มักมากับโรคร้ายเสียด้วย

อาหารมันๆ นั้นที่หลายคนชอบกินล้วนให้พลังงานสูง ถ้าเรากินในปริมาณมากและกินบ่อย ๆ จะมีไขมันไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะไปสะสมอยู่ที่พุงซึ่งเรียกว่า “ภาวะอ้วนลงพุง” ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลายชนิด เช่น …

โรคความดันโลหิตสูง  ต้องทำความเข้าใจว่า หลอดเลือดแดงอันมีจุดเริ่มต้นจากหัวใจสู่สมอง แขน ขา ลำตัว ส่วนหลอดเลือดแดงฝอยจะนำเลือดไปที่ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ผิวหนัง จนไปถึงเซลล์สมอง และกล้ามเนื้อหัวใจ

เลือดแดงมันมิได้วิ่งไปตามร่างกายของมันเองได้ มันต้องพึ่งพาด้วยการบีบตัวของหัวใจเป็นหลักใหญ่ และมีแรงบีบของกล้ามเนื้อคอยช่วยสงเสริม ทั้งบีบทั้งดันส่งให้เลือดแดกระจายไปตามที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วยังมีผนังของหลอดเลือดแดงฝอยช่วยควบคุมจากระบบประสาท ช่วยให้เลือดแดงวิ่งไปตามที่ต่างๆ อย่างไม่ขาดตอน

การเดินทางของเลือดแดงนั้นมันได้นำพาเอาออกซิเจนไปด้วยทุกหนแห่งเพื่อไปเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยครบถ้วนแล้ว หลอดเลือดฝอยจะคอยรวบรวมเลือดที่ผ่านการใช้แล้วกลับไปในหลอดเลือดดำ ทั้งสองหลอดเลือดจะแยกออกโดยอิสระไม่ยุ่งกัน เพราะหลอดเลือดดำภายในจะมีลิ้นคอยบังคับให้เลือดดำไหลกลับไปสู่หัวใจ โดยพาคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาด้วย

เส้นเลือดที่มีแรงดันอย่างมากมายเพื่อช่วยขับเคลื่อนไปได้ไกลทั่วร่างกาย อะไรคือตัวช่วยสำคัญของหัวใจ มันก็คือหลอดเลือดนั่นแหละที่มีความนิ่มนวลและยืดหยุ่นได้ของหลอดเลือดแดงนำไปสู่แรงกระเพื่อมที่ผนังหลอดเลือดแดงตั้งแต่ต้นจนปลายทาง อีกทั้งสารอาหารและออกซิเจนสามารถซึมผ่านได้ ทำให้ตลอดเส้นทางที่เลือดวิ่งไปทุกส่วนทุกเซลล์ของร่างกาย ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

หากมีเหตุทำให้หลอดเลือดแดงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น หลอดเลือดไม่นิ่ม ไม่ยืดหยุ่น ภายในผนังหลอดเลือดแดงมีตะกรันจับเหมือนตะกรันในกาต้มน้ำ เป็นเหตุให้เลือดเดินทางไม่สะดวก กลไกทางสมองจะบังคับให้หัวใจออกแรงมากขึ้น เพื่อเพิ่มแรงฉีดให้เลือดเดินทางไปให้ถึงจุดหมายให้ได้ เป็นเหตุให้มีความดันของเลือดย่อมสูงขึ้นอย่างแน่นอน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงก็เพราะมีวิถีการบริโภคไม่ถูกต้อง ตามใจปาก ชอบกินอาหารมัน ๆ ทอด ๆ จนอ้วนผิดปกติ เนื่องจากไขมันส่วนเกินเข้าไปเกาะติดผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงหมดความยืดหยุ่นขวางทางการเดินทางของเลือดนั่นเอง

โรคเบาหวาน เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีการปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย ดื่มน้ำมาก น้ำหนักตัวลดลง การที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นานๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเส้นเลือด ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังขึ้น ได้แก่ โรคตา โรคไต ปลายประสาทชา แล้วนำไปสู่การเจ็บไข้ได้ป่วยต่อไป

เราสามารถสังเกตคนที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวานนั้น มักจะชอบกินจุบกินจิบและชอบของขบเคี้ยวจำพวกทอดกรอบ อาหารชุบแป้งทอด กินขนมหวานจำพวกทองหยิบ ฝอยทอง สังขยา หรือไม่ก็ชอบกินผลไม้กวน เช่น ทุเรียนกวน มะม่วงกวน สับปะรดกวน

แม้แต่จากโปรตีนประเภทเนื้อสัตว์ หรือโปรตีนจากพืช เช่น ถั่ว เต้าหู้ สามารถรับประทานได้แต่ไม่บ่อยและควบคุมให้พอดี และควรหลีกเลี่ยงการกินเนื้อติดมัน เช่น มันหมู มันเนื้อ มันไก่ เบาหวานเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาการรักษาสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องการควบคุมอาหาร พร้อมกับใช้ยาที่แพทย์สั่ง ยารักษาโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่ออกฤทธิ์วันต่อวัน ถ้ารับประทานไม่สม่ำเสมอก็อาจมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นมาได้

โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย โดยอาศัยการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ตัวของหัวใจเองก็ต้องอาศัยเลือดไปเลี้ยงเช่นกัน โดยผ่านทางหลอดเลี้ยงหัวใจ (โคโรนารี่) หลอดเลือดนี้มีสองเส้น มีขวาและซ้ายแตกแขนงไปเลี้ยงทุกส่วนของกล้ามเนื้อหัวใจ

การที่หัวใจขาดเลือดหมายถึง การที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลง หรือไม่มีไปเลี้ยงเลย เป็นผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หากรุนแรงทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วนได้

การที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเกิดการตีบหรือตันนั้น เกิดจากหลอดเลือดแข็งตัวขึ้นเนื่องจากมีไขมันสะสมในผนังด้านในของหลอดเลือดเป็นผลให้ทางเดินเลือดไหลผ่านแคบลง เลือดเดินทางไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจจึงได้รับเลือดน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเกล็ดเลือดและลิ่มเลือดอุดตันอีกด้วย

เมื่อเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด จะมีอาการเจ็บและแน่นหน้าอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะเราออกแรง แม้ว่าเรานั่งพักให้หายเหนื่อยก็ยังรู้สึกแน่น ๆ อึดอัดบริเวณกลางหน้าอก หรือค่อนมากทางซ้าย รู้สึกเจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวก อาจมีอาการอื่นร่วมอยู่ด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อตก ใจสั่น หน้ามืด หรือบางรายนอกจากจะแน่นบริเวณหน้าอกแล้วยังอาจเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือที่คอ

ผู้ที่จะเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมีปัจจัยเสี่ยงมาจาก ความดันโลหิตสูงเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง (ไขมันชนิดร้ายไม่มีประโยชน์) มีไขมัน “คอเลสเตอรอล เอชดีแอล” (ชนิดดี) ต่ำเกินไป ชอบสูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมโรคนี้ เช่น ความอ้วน ไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง

โรคมะเร็ง  มีการรวบรวมจำกัดความของการเกิดโรคมะเร็งของ นพ.แมกซี เกอร์สัน แพทย์ผู้ประสานความรู้ธรรมชาติบำบัดมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ความว่า…

มะเร็ง คือ ผลพวงสุดท้ายของภาวะที่ร่างกายเสียเอกภาพในการทำงานของระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบย่อยอาหาร และการสลายสารเสีย ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาทอัตโนมัติที่มีระบบเร่งรัดและระบบสลายไม่ว่าจะเป็นระบบฮอร์โมน หรือแม้กระทั่งระบบภูมิต้านทาน”

การที่คนใดคนหนึ่งจะเป็นโรคมะเร็งหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่การสัมผัสกับสารก่อมะเร็ง ปัจจัยตรงนี้มีโอกาสสูงสำหรับผู้กินอาหารไม่เลือก เป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย ชอบกินอาหารนอกบ้านกินอาหารสำเร็จรูป ได้รับแต่อาหารที่ปนเปื้อนสารแต่งสี แต่งกลิ่น ย่อมเพิ่มโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็ง

ปัจจัยเร่งในการเปลี่ยนเซลล์เริ่มแรกให้เป็นเซลล์ก่อมะเร็งจะพบในอัตราสูงของผู้ที่ชอบกินอาหารประเภทบะหมี่ซอง ขนมกรุบกรอบ กลิ่นอาหารใส่สีใส่กลิ่น อีกกรณีหนึ่งคือการบริโภคโปรตีนจนล้นเกิน การโด๊ปร่างกายด้วย เนื้อ นม ไข่ จนเกินพอดีนั่นแหละ เท่ากับโด๊ปมะเร็งให้กำเริบขยายตัวออกไปด้วย

หรืออธิบายให้ง่ายขึ้น…เซลล์มะเร็งเกิดจากการบริโภคอาหารขยะมากไป ทำให้เซลล์ฝ่ายดีของร่างกายเสื่อมและตายเร็วขึ้น แต่ตัวเซลล์มะเร็งกลับเจริญเติบโตได้รวดเร็ว เพราะตัวเซลล์มะเร็งจะไปดึงโปรตีนและกรดอะมิโนทั่วร่างกายไปใช้

ยิ่งร่างกายอ่อนแอ จิตใจท้อถอย สมองสะสมแต่ความเครียดร่างกายไม่สามรถผลิตสารเอนไซม์และไขมันไปดักจับทำลายเซลล์มะเร็งได้ ตัวมะเร็งก็ยิ่งเติบโตและยากแก่การรักษา

โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต คนไทยมักเรียกโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต กันจนติดปากนั้น จริง ๆ แล้วคืออาการที่เกิดจากโรค หลอดเลือดสมองตีบหรือสมองขาดเลือด ซึ่งทำให้เกิดภาวะพิการจนถึงขั้นเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง โดยทุกๆ 14 นาที จะมีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ 1 คน

คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าอัมพฤกษ์ อัมพาต จะเกิดขึ้นได้เฉพาะผู้มีมีอายุสูงวัย แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในผู้มีอายุต่ำกว่า 50 ปีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ อันมีสาเหตุมาจากสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยน

หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากหลอดเลือดแดงที่สมองมีอาการแข็งและตีบ ซึ่งจะค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย และในที่สุดหากมีลิ่มเลือดมาอุดตันหลอดเลือดก็จะทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือด หลอดเลือดสมองตีบพบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากคนกลุ่มนี้มักจะมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งจากไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือด และเป็นโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือดสูง

สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน จะมีโอกาสเกิดภาวะโรคนี้ได้ก่อนวัยอันควร เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเร็วกว่าปกติ

โรคไขมันพอกตับ มีข้อมูลสำรวจทางการแพทย์พบว่า คนอ้วน ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน หรือผู้ดื่มสุราเป็นประจำ จะมีภาวะไขมันพอกตับสูงถึง 50% และ 57.7% ตามลำดับ ส่วนผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไปมีปริมาณ 25% และสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ ไขมันพอกตับส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยจึงมักไม่รู้ตัวจึงไม่ใส่ใจรักษาสุขภาพ

ไขมันพอกตับใช่ว่าจะมีไขมันพอกอยู่บนตับ หากแต่หมายถึง การสังเคราะห์ไขมันในตับผิดปกติ ทำให้ไขมันโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ที่แทรกอยู่ในเซลล์ตับมีน้ำหนักเกิน 5% ของตับ ซึ่งจะทำให้ตับทำงานผิดปกติ กลายเป็นตับอักเสบและอาจพัฒนาเป็นตับแข็งในที่สุด

ไขมันพอกตับเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ดื่มสุราเป็นประจำ โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ตับอักเสบจากไวรัส การขาดสารอาหาร เกิดจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา การตั้งครรภ์ เป็นต้น
นี่เป็นตัวอย่างของโรคไม่กี่ชนิด อันเกิดจากกินอาหารมัน ๆ แต่ส่งผลร้ายแรงให้แก่ร่างกาย ทั้งยังทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทั้งยังส่งผลกระทบต่อประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายใยการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นโรคเหล่านี้สูงขึ้นทุกปี รวมกันแล้วกว่าแสนล้านบาทต่อปี

แล้ว “ไขมัน” มาจากไหน ?

“ไขมัน” เป็นสารอาหารกลุ่มที่ให้พลังงานสูงที่สุด คือ 9 กิโลแคลอรี ต่อ 1 กรัม ไขมันช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี และเค ให้ความอบอุ่นและควบคุมอุณหภูมิของร่างกายช่วยให้อาหารนุ่ม มีกลิ่นรสดีและน่ากิน การขาดไขมันหรือได้รับไม่เพียงพอจะทำให้ได้รับวิตามินไม่เพียงพอไปด้วย แต่ถ้ากินอาหารมัน ๆ มากเกินไปจะทำให้เกิดโรคอ้วนได้

ไขมัน ได้จากสัตว์และพืช ได้แก่ น้ำมันหมู น้ำมันพืชที่ทำจากถั่วเหลือง เนื้อปาล์ม เมล็ดฝ้าย มะพร้าว รำข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเนย ซึ่งทำมาจากไขมันในนม เนยเทียม หรือมาการีน ทำมาจากไขมันพืช ยังมีไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อสัตว์ รวมถึงวิธีการปรุงประกอบด้วยไขมัน น้ำมัน เนย กะทิ เช่น อาหารทอด ผัด ขนมเค้ก คุกกี้ พิซซ่า ไอศกรีม แกงกะทิ เป็นต้น

จากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการในประเทศไทยเมื่อปี 2546-2547 พบว่า “คนไทยกินอาหารทอด และผัดทุกวันร้อยละ 19.6” เช่น ไก้ทอด ลูกชิ้นทอด ปลาทอด ไข่เจียว ไข่ดาว หรือจำพวกขนมทอดทั้งหลาย เช่น กล้วยแขก เผือกทอด ปาท่องโก๋ เป็นต้น

ส่วนใหญ่อาหารเหล่านี้มีไขมันที่มีเพิ่มมากขึ้นจากน้ำมันที่ใช้ทอดทำให้อาหารทอดทั้งหลาย มีพลังงานมากกว่าอาหารที่ปรุงด้วยวิธีอื่น โดยเฉพาะอาหารจานเดียวมีพลังงานต่อกิโลแคลอรีค่อนข้างสูง เช่น กระเพาะปลามี 239 กิโลแคลอรี โจ๊กหมู 253 กิโลแคลอรี เส้นหมี่ลูกชิ้นเนื้อ 258 กิโลแคลอรี ข้าวต้มกุ้ง 305 กิโลแคลอรี ข้าวขาหมู 438 กิโลแคลอรี หอยแมลงภู่ทอดใส่ไข่ 428 กิโลแคลอรี ข้าวไข่เจียวหมูสับ 500 กิโลแคลอรี ข้าวคะน้าหมูกรอบ 500 กิโลแคลอรี ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ๊วใส่ไข่ 679 กิโลแคลอรี (ข้อมูลจาก หนังสือปฏิบัติฝ่าวิกฤติพิชิตพุง โดยเครือข่ายคนไทยไร้พุง 1 ธันวาคม 2549)

แม้ว่าไขมันจะมีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ แต่ถ้าหากเรากินอาหารมันจัดเป็นประจำ จะเกิดไขมันสะสมจนทำให้เป็นโรคอ้วน เป็นสาเหตุให้เสี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็ง โรคอัมพาต ได้

จริง ๆ แล้วคนเราควรบริโภคไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน หรือมื้อละประมาณ 3.5-4 ช้อนชา และควรมีสัดส่วนของไขมันพืช : ไขมันสัตว์เท่ากับ 3 : 1 หรือ 1 : 1 เป็นอย่างน้อย

การปรับพฤติกรรมในการกินเพื่อลดอาหารมันจัดนั้นควรกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีตามหลักโภชนาการ เลือกกินอาหารที่ประกอบด้วยวิธีนึ่ง ย่าง ต้ม อบ แทนของทอด และหมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที เราควรเอาใจใส่กับการกินสักนิดเพื่อสุขภาพของตนเองได้มีอายุยืนยาวขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจ