ว่านสิงหโมรา

ชื่อวงศ์ : ARACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrtosperma johnstoni N.E.Br.

ชื่อสามัญ : –

ชื่อพื้นเมืองอื่น : ผักหนามฝรั่ง, ว่านสิงหโมรา (กรุงเทพฯ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก (ExH) มีเหง้าหัวอยู่ใต้ดินแข็งสีแดงเรื่อ ๆ มีเปลือกหุ้มค่อนข้างหนา เนื้อในเหง้าหัวมีสีคล้ำ ลักษณะลำต้นกลมและมีหนามโดยรอบ

ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ คล้ายกับปลายหอกหรือหัวลูกศร ขอบใบหยัก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปเงี่ยงลูกศร ก้านใบกลม แผ่นใบสีเขียว เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบสีแดง มีหนามและจุดสีแดงประปรายทั่วแผ่นใบและก้านใบ

ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดมีกาบ เป็นแท่งกลมยาว และมีกาบหุ้มช่อดอกเป็นสีน้ำตาล มีดอกชนิดสมบูรณ์เพศติดอยู่รอบๆ แท่งนี้

ผล ผลสดจะมีเนื้อนุ่มหุ้มข้างนอก ส่วนข้างในจะมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก

นิเวศวิทยา

เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะโซโลมอน และได้นำมาปลูกเพื่อใช้เป็นสมุนไพร

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อหรือหัวใต้ดิน

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

เหง้าหัว รสร้อน ใช้ฝนกับน้ำหรือฝนกับสุราแล้วนำไปปิดปากแผลที่แมงป่องหรือตะขาบกัดต่อย จะบรรเทาอาการปวดได้ และช่วยบำรุงโลหิต

ทั้งต้น รสร้อน ดองกับสุราดื่มเป็นยาขับน้ำคาวปลา บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ แก้โรคอยู่ไฟไม่ได้ หรือโดนเลือดลมกระทำเป็นเหตุให้ผอมแห้งแรงน้อย

ต้นและใบ รสร้อน บำรุงโลหิตและรักษามดลูกสำหรับสตรีคลอดบุตรใหม่เป็นยาเจริญอาหาร ยาอายุวัฒนะ แก้โรคโลหิตจาง ซูบซีด หน้ามืด เป็นลมวิงเวียนบ่อยๆ โดยหั่นเป็นชิ้นบางๆ ผสมมะตูมอ่อนและกล้วยน้ำหว้าห่ามดองกับสุรา 15 วัน หรือบดเป็นผงละเอียดผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานครั้งละ 1 เม็ด 2 เวลา เช้า-เย็น

ก้านใบ รสร้อน เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงโลหิต เหมาะสำหรับสตรีโดยหั่นเป็นชิ้นบางๆ ดองกับสุราไว้ดื่ม

ใบ รสร้อน ตำผสมกับสุราใช้พอกสำหรับรักษาฝีที่ยังไม่เกิดหนองให้แห้งหายได้

ช่อดอก รสร้อน เป็นยาทำให้ประจำเดือนมาปกติ โดยนำช่อดอกมาย่างไฟให้สุกพอเหลือง ดองกับสุราไว้ดื่ม เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวารได้

วิธีและปริมาณที่ใช้

  • ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ และรักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยใช้ช่อดอกสด 15-30 กรัม นำมาย่างไฟอ่อนให้สุกเหลือง แล้วนำมาดองกับเหล้าโรงประมาณ 1-3 อาทิตย์ จิบวันละน้อยประมาณ 50 ซีซี

สิ่งที่น่าสนใจ