มะเดื่ออุทุมพร

ชื่อวงศ์ : MORACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus racemosa L.

ชื่อสามัญ : Cluster fig

ชื่อพื้นเมืองอื่น : กูแซ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; เดื่อเกลี้ยง (ภาคเหนือ, ภาคกลาง) ; มะเดื่อ (ลำปาง) ; มะเดื่อชุมพร, มะเดื่ออุทุมพร (ภาคกลาง) ; เดื่อน้ำ (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้น (T) ขนาดกลาง สูงประมาณ 10-20 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีขาว มียางสีขาว

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะใบรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ เส้นใบแตกออกจากเส้นกลางใบเห็นชัดเจน แผ่นใบและท้องใบเรียบ แผ่นใบกว้าง 4-8 ซม. ยาว 6-18 ซม.

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ออกตามบริเวณลำต้นและกิ่ง เกิดภายในฐานรองดอกที่มีรูปร่างคล้ายผล ดอกจะแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน

ผล ออกเป็นกระจุกตามกิ่งและลำต้น ลักษณะรูปทรงกลม ผิวเรียบ มีขนปกคลุม ผลอ่อนสีเขียว พอสุกเป็นสีเหลืองจนถึงสีแดงเข้ม เนื้ออ่อน รสฝาด ผลมีขนาด 2-4 ซม.

เมล็ด มีขนาดเล็กจำนวนมาก

นิเวศวิทยา

ชอบขึ้นในที่ป่าร้อน ชุ่มชื้น มีฝนตกตลอดปี ตามป่าเบญจพรรณหรือป่าดงดิบชื้น เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนเชิงเขาและมีอินทรีย์วัตถุสูง มีระบบการระบายน้ำที่ดี ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ราก รสฝาดเย็น แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษร้อน กล่อมเสมหะและโลหิต แก้ไข้หัว แก้ไข้กาฬ แก้ท้องร่วง

เปลือกต้น รสฝาด แก้ท้องร่วง ต้มชะล้างบาดแผล แก้ประดงผื่นคัน แก้ไข้รากสาดน้อย แก้ธาตุพิการ

ดอก รสจืด ลดความร้อนในร่างกาย

ผล รสฝาดเย็น แก้ท้องร่วง และสมานแผล

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. แก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ โดยใช้รากสดประมาณ 20-30 กรัม ล้างให้สะอาด สับเป็นชิ้น ต้มในน้ำเดือด 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง กรองเอาน้ำดื่มวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร
  2. แก้ท้องร่วง โดยใช้ผลสดดิบ 2-3 ผล รับประทาน หรืออาจจะจิ้มเกลือด้วยก็ได้

ข้อควรทราบ

  • ช่อดอกและผลอ่อนที่มีสีเขียว นิยมนำมารับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก

สิ่งที่น่าสนใจ