มะเขือยาว

ชื่อวงศ์ : SOLANACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum melongena L.

ชื่อสามัญ : Eggplant

ชื่อพื้นเมืองอื่น : ยั่งมูไล่, สะกอวา (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; มะเขือป๊าว, มะเขือหำม้า, มะแขว้ง, มะแขว้งคม (ภาคเหนือ) ; มะเขือกระโปกแพะ, มะเขือยาว, มะเขือจาน, มะเขือจาวมะพร้าว, มะเขือยาว (ภาคกลาง) ; มะเขือฝรั่ง (กรุงเทพฯ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่มขนาดเล็ก (US) สูงประมาณ 0.5-1 เมตรลำต้นแข็งแรงมีสีเขียวหรือสีม่วง มีขนนุ่มและสั้นปกคลุม อาจมีหนามเล็ก ๆ ส่วนบนแตกกิ่งก้านสาขาหนาทึบ

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับกัน ลักษณะใบรูปค่อนข้างกลม โคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ริมขอบใบหยักหรือเป็นคลื่นหลังใบ ใต้ท้องใบมีขนนุ่มปกคลุมอยู่

ดอก ออกเป็นช่อหรือดอกเดี่ยว มีสีม่วง กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกจากกันเป็น 5 แฉก ปลายแหลมกลางดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน อยู่ติดกับกลีบดอก ก้านเกสรและอับเกสรมีสีเหลือง

ผล กลมยาว สีเขียวอ่อน สีม่วงคล้ำหรือสีขาว ผิวเปลือกเรียบ

เมล็ด ลักษณะกลม แบน ขนาด 2-3 มม.

นิเวศวิทยา 

เป็นไม้กลางแจ้ง สามารถขึ้นได้ในดินทั่วๆ ไป นิยมปลูกเป็นพืชสวนครัวและเพื่อการค้า

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ราก รสเปรี้ยว กัดเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว ดับพิษร้อนใน แก้โรคสันนิบาต

ลำต้นและราก รสเย็นเฝื่อน แก้บิดเรื้อรัง อุจจาระเป็นเลือด แผลเท้าเปื่อยอักเสบ

ใบ รสฝาดเฝื่อน แก้ปัสสาวะขัด แก้โรคหนองใน พอกแผลบวม เป็นหนอง

ผล รสหวานเย็น ทำเป็นเมล็ดแก้ปวด แก้ตกเลือดในลำไส้ ขับเสมหะ ผลสดโขลกพอกแผลอักเสบมีหนอง

ขั้วผลแห้ง รสเฝื่อน แก้ตกเลือดในลำไส้

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. เป็นยาแก้อุจจาระเป็นเลือด โดยใช้ขั้วผลแห้ง 60-100 กรัม นำมาต้มในน้ำเดือด 500 ซีซี กรองเอาน้ำดื่ม หรือนำเผาไฟให้เป็นถ่านแล้วบดให้ละเอียด ชงเป็นชาดื่ม
  2. หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โดยใช้รากสด 50-100 กรัม นำมาต้มในน้ำเดือด 500 ซีซี ผสมน้ำตาลกรวดทำเป็นน้ำเชื่อม ดื่มครั้งละ 50 ซีซี เป็นประจำ

ข้อควรทราบ

  • มะเขือยาวมีโปรตีนและแคลเซียมสูง รับประทานเป็นประจำ จะช่วยรักษาหลอดเลือดและหัวใจให้เป็นปกติ ป้องกันเส้นเลือดและความดันโลหิตสูง เสริมการทำงานของสมอง ลดอาการบวม ขับปัสสาวะ ถอนพิษไข้

สิ่งที่น่าสนใจ