มะเขือพวง (Pea Eggplant)

08 มิ.ย. 2014
64

มะเขือพวงเป็นไม้พุ่มเตี้ย ใบและลำต้นมีขนเล็ก ๆ ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือม่วง เกสรสีเหลือง ผลออกเป็นช่อ ผลลักษณะทรงกลมเปลือกผลหนา ผิวเปลือกเรียบ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ให้ผลผลิตมากในฤดูฝน ผลอ่อนมะเขือพวงมีรสฝาดปนขมเล็กน้อย มักเด็ดใส่น้ำพริก กินสดคู่กับลาบ ส้มตำ ผัดเผ็ด หรือใส่ในแกงต่างๆ

มะเขือพวงเป็นผักที่มีเส้นใยอาหารสูง คือในปริมาณ 100 กรัม จะมีเส้นใยอาหาร 6.1 กรัม ประกอบด้วนเพกทิน ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารชนิดละลายน้ำได้ ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด มีแคลเซียม 158 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 11 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 7.1 มิลลิกรัม และมีไนอะซินหรือวิตามินบี 3 ซึ่งมีส่วนช่วยในการเผาผลาญสารอาหารและรักษาระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ 2.6 มิลลิกรัม

สรรพคุณทางยาของมะเขือพวง ได้แก่ แก้ไอ ขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ช่วยให้เลือดไหวเวียนดี ในมะเขือพวงมีสารซาโปนิน (Saponin) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมี (Phytonutrient) ที่ช่วยกำจัดสารพิษในทางเดินอาหาร กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และทำให้มะเขือพวงมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ อีกทั้งมะเขือพวงยังมีสารอัลคาลอยด์ ชื่อว่าโซลาโซดีน (Solasodine) ซึ่งมีประสิทธิภาพยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ อันเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็ง แต่ถึงจะมีสรรพคุณมาก ก็ไม่ควรกินสดติดต่อกันเป็นประจำ เพราะอาจทำให้สารอัลคาลอยด์สะสมที่ตับ

พีชสกุลมะเขือยังมีสารอัลคาลอยด์อื่น เช่น โซลานีน (Solanine) สารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย คนที่กินพืชสกุลมะเขือจึงควรกินอาหารจำพวกนมเนยด้วย และผู้ป่วยโรคไขข้อไม่ควรกินพืชสกุลนี้ ส่วนคนที่ไวต่อโซลานีนจะมีอาหารอาเจียน ท้องเสีย หรือปวดหัว สารอีก 2 ชนิดคือ โซลาโซนีน (Solasonine) และ โซลาจีน (Solamagine) ผู้ที่ไวต่อสารนี้จะมีอาการของระบบทางเดินอาหารและระบบประสาท ดังนั้น การปรุงสุกด้วยความร้อนจะช่วยลดอาการแพ้สารอัลคาลอยด์ได้

นอกจากผลแล้ว ส่วนอื่น ๆ ของมะเขือพวงก็มีประโยชน์ทางยาไม่น้อย เช่น ใบช่วยห้ามเลือด แก้ปวด ขับปัสสาวะ และขับเหงื่อ ลำต้นช่วยย่อยอาหาร ขับเสมหะ และแก้ปวด ส่วนรากใช้เป็นยาจำพอกแก้เท้าแตก

สิ่งที่น่าสนใจ