มะเขือพวง

ชื่อวงศ์ : SOLANACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum torvum Sw.

ชื่อสามัญ : –

ชื่อพื้นเมืองอื่น : ปอลอ, ปอลือ (แม้ว-ภาคเหนือ) ; มะแคว้งกูลา, มะแคว้งกูลัว (เชียงใหม่) ; มะเขือพวง (ภาคกลาง) ; มะเขือละคร, หมากแค้ง (นครราชศรีมา) ; มะแว้ง, มะแว้งช้าง (ภาคใต้) ; จะเคาะค่ะ, ตะโกงลาโน (มลายู-สงขลา) ; รับจงกลม (เขมร-นครราชศรีมา)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่ม (S) ขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร ลักษณะลำต้นตั้งตรงแข็งแรง มีขนนุ่มขึ้นปกคลุม และมีหนามสั้นขึ้นทั่วไป แตกกิ่งก้านสาขามาก

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกสลับ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบเป็นหยักเว้าตื้น โคนใบกลมหรือเบี้ยว แผ่นใบสีเขียว มีขนทั้งสองด้าน ขนาดของใบยาวประมาณ 4-7 นิ้ว

ดอก ออกดอกเป็นช่อ ตามซอกใบ ลักษณะเป็นดอกสีขาว กลีบเลี้ยงและโคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ปลายเรียวแหลม กลีบดอกยาว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแผ่และแยกเป็น 5 แฉก ด้านนอกมีขนนุ่ม

ผล ลักษณะรูปทรงกลม ผิวเรียบเกลี้ยง มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1 ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

เมล็ด แบน ลักษณะกลมเล็ก จำนวนมาก

นิเวศวิทยา

ถิ่นกำเนิด เขตร้อน ขึ้นได้ทั่วไป ส่วนมากนิยมปลูกเป็นพืชสวนครัวตามบ้านเรือน

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินร่วนปนทรายที่อุดมสมบูรณ์ หรือดินตะกอน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำ

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ราก เป็นยาช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ปวด ฟกช้ำ ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี

ใบ ใช้ห้ามโลหิต แก้ฝีปวดบวมมีหนอง

ผล แก้ไอ ขับเสมหะ หรือใช้เมล็ดในผล นำมาเผาไฟแล้วสูดดมเอาควัน แก้อาการปวดฟันได้

วิธีและปริมาณที่ใช้

  • ห้ามเลือด แก้ฝีปวดบวม แก้ปวด โดยใช้ใบสด 5-10 ใบ ล้างให้สะอาดนำมาโขลกให้ละเอียด ทาและพอกบริเวณที่เป็น
  • ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นสดมาตัดเป็นท่อนตากแดดให้แห้ง นำมา 10-15 กรัม ต้มในน้ำสะอาด 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง กรองเอาน้ำดื่มวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น
  • แก้เท้าแตกเป็นร่อง โดยใช้รากสด 15-20 กรัม ล้างให้สะอาดสับเป็นชิ้นโขลกให้ละเอียด นำมาทาและพอกบริเวณเท้าที่เป็น เช้า-เย็น

สิ่งที่น่าสนใจ