บัวบก (Gotu Kola)

บัวบกหรืออีกชื่อคือ ผักหนอก เป็นพืชล้มลุก ทอดเลื้อยไปตามผิวดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินชุ่มชื้น ใบบัวบกลักษณะกลม สีเขียวเข้ม ขอบใบหยัก ก้านใบยาว รสขมเย็น เฝื่อนเล็กน้อย มีกลิ่นหอม ใบและก้านใบบัวบก เป็นผักที่คนไทยทุกภาคนิยมกิน ไม่ว่าจะกินสดแกล้มอาหารรสจัดอย่างลาบ ส้มตำ ขนมจีนน้ำยา หรือน้ำพริก กินกับหมี่กระทิหรือก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เพื่อช่วยตัดรส แก้เลี่ยน ใส่ในยำหรือแกงต่างๆ รวมถึงต้มเอาน้ำดื่มเพื่อดับกระหายคลายร้อน

ใบบัวบก 100 กรัม มีวิตามินบี 1 หรือไทอะมีน ประมาณ 0.24 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงเมื่อเทียบกับผักชนิดอื่น ๆ วิตามินบี 1 มีหน้าที่เปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงาน ทั้งยังช่วยลดปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับด้วย นอกจากนี้ ยังมีแคลเซียม 146 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 3.9 มิลลิกรัม เบตาแคโรทีน 2,428 ไมโครกรัม และวิตามินซี 15 มิลลิกรัม

คนมักพูดหยอกล้อกันว่า น้ำใบบัวบกช่วยแก้อาการอกหักช้ำรักได้ ซึ่งสรรพคุณข้อนี้ก็สืบเนื่องมาจากภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่ดื่มน้ำใบบัวบกแก้อาการช้ำใน ลดอาการอักเสบ ซึ่งในปัจจุบันผลการศึกษายังพบว่า ใบบัวบกช่วยสมานแผลและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนได้อีกด้วย เพราะมีกรดมาดีคาสสิค (Madecassic acid) และกรดอะเชียติก (Asiatic acid) ซึ่งก็ใช้ได้ทั้งแผลภายในอย่างแผลในกระเพาะอาหาร และแผลภายนอกโดยนำน้ำคั้นใบบัวบกมาทาแผล กรดอะเชียติกยังสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรคในหลอดทดลองได้ด้วย

ใบบัวบกสามารถบรรเทาอาการปวดหัวข้างเดียวหรือไมเกรน ขับปัสสาวะ แก้อ่อนเพลีย ลดความดันโลหิต บำรุงหัวใจ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ระบายความร้อนในร่างกาย และแก้เจ็บคอ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ควรกินมากจนเกินไป เพราะร่างกายอาจเสียสมดุลด้วยฤทธิ์เย็นของใบบัวบก นอกจากนี้ยังมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ของผู้ที่กินสารสกัดจากใบบัวบกในรูปแบบยาเม็ดลดน้ำหนัก พบว่าทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ซึ่งจะอาการดีขึ้นเมื่อหยุดกิน จึงควรระวังในการกินสารสกัดจากใบบัวบกติดต่อกันเป็นเวลานาน

ปัจจุบันมีการนำสารสกัดที่ได้จากใบบัวบกสามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง แต่ในบ้านเราที่หาใบบัวบกสดๆ ได้ไม่ยาก ก็เพียงแค่นำมาคั้นน้ำแล้วใช้สำลีชุบเช็นหน้า ทิ้งไว้ 10-15 นาที เท่านี้ก็ช่วยลดริ้วรอยบนใบหน้าได้แบบไม่ต้องพึ่งสารเคมี

สิ่งที่น่าสนใจ