งา (Sesame)

งาเป็นพืชน้ำมันที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทยและมีแนวโน้มว่าศักยภาพในการผลิตและการตลาดจะสูงขึ้นทุกปี เราใช้ประโยชน์จากงาด้วยการบริโภคโดยตรง หรือนำไปแปรรูป เช่น สกัดเมล็ดได้น้ำมันงา กากงาซึ่งได้จากเมล็ดงาที่สกัดน้ำมันออกแล้ว จากนั้นสามารถนำน้ำมันงาและกากงาไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับคน อาหารสัตว์ ผลิตหรือสกัดเป็นยาคนและสัตว์ ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องสำอางเช่น ครีมบำรุงผิว แชมพูและครีมนวด สบู่ ลิปสติก

เมล็ดงาเล็กจิ๋ว แต่เป็นแหล่งรวมสารอาหารที่มีประโยชน์มากมายประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 20-21 โปรตีนร้อยละ 17-25 ไขมันร้อยละ 35-37 โปรตีนในเมล็ดงามีกรดอะมิโนที่จำเป็นอย่างเมทไทโอนีน (Methionine) และทริปโตเฟน ที่ไม่มีในถั่วหรือพืชน้ำมันอื่นๆ จึงควรกินงาเสริมอาหารประเภทถั่ว ธัญพืช และแป้ง เมล็ดงามีโปรตีนสูงกว่าไข่ประมาณร้อยละ 5 มีไขมันสูงกว่าถั่วเหลืองประมาณ 3 เท่า และสูงกว่าไข่ 4-6 เท่า

เมล็ดงาอุดมด้วยวิตามินอี วิตามินบีทุกชนิด (ยกเว้นบี 12) ช่วยบำรุงสมอง ประสาท และป้องกันโรคเหน็บชา ส่วนแร่ธาตุ ได้แก่ เหล็ก ไอโอดีน โดยเฉพาะแคลเซียมและฟอสฟอรัสซึ่งมีอยู่สูง จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูก เหมาะสำหรับเด็กในวัยเจริญเติบโต และเพื่อทดแทนแคลเซียมที่ถูกดึงออกไปใช้มากขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน องค์ประกอบอีกอย่างคือสารกลุ่มลิกแนน (Lignan) ซึ่งได้แก่ เซซามิน (Sesamin) และเซซาโมลิน (Sesamolin) โดยพบเซซาโมลินเฉพาะในเมล็ดงาเท่านั้น มีคุณสมบัติต้านทานการเกิดออกซิเดชั่นได้ดี ส่วนเซซามินช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิตลดการออกซิเดชั่นในไขมัน ช่วยให้ตับและไตมีสุขภาพดี ช่วยลดปฏิกิริยาเคมีที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง

ในกระบวนการสกัดน้ำมันงา สารเซซาโมลินในเมล็ดงาจะเปลี่ยนเป็นสารเซซามอล (Sesamol) สารนี้จะช่วยให้เก็บน้ำมันงาไว้ได้นานโดยไม่มีกลิ่นหืนเหมือนน้ำมันพืชอื่น ๆ ทางการแพทย์ใช้สารเซซามอลเป็นส่วนประกอบของยา เพื่อลดความดันโลหิต ชะลอความแก่ และลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

น้ำมันงาที่ได้จากการสกัดเมล็ดงา มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว 2 ชนิด คือ กรดโอเลอิก (Oleic) และกรดไลโนเลอิก (Linoleic) เป็นกรดไขมันจำเป็นที่ร่างกายต้องการแต่สร้างเองไม่ได้ กรดโอเลอิกและไลโนเลอิกช่วยลดระดับพลาสมาคอเลสเตอรอล กรดโอเลอิกมีโอเมกา 6 ช่วยไม่ให้คอเลสเตอรอลเกาะเส้นเลือด ปรับระดับไขมันในร่างกายควบคุมความดันโลหิตช่วยเพิ่มอุณหภูมิคุ้มกัน เก็บความชุ่มชื้นของผิวหนังได้ดี ช่วยบำรุงผิวให้อ่อนนุ่ม

แพทย์แผนไทยใช้งาเป็นยามาแต่โบราณ เมล็ดงาบดผสมน้ำและน้ำมะนาว ทาผิวหนังและแผลแตกไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือนในเด็กสาว โดยบดเมล็ดงา 1 ช้อนชา ชงกับน้ำ กินวันละ 2 ครั้ง ก่อนประจำเดือนจะมา 2 วัน น้ำมันงาใช้ชะโลมนวดตัวเพิ่มความชุ่มชื้นและบำรุงผิวพรรณ ขจัดอาการปวดเมื่อยคลายกล้ามเนื้อ เคล็ดขัดยอก หรือใช้หมักผมให้เงางาม มีน้ำหนัก กระตุ้นการงอกของเส้นผม

สิ่งที่น่าสนใจ