กุยช่าย

ชื่อวงศ์ : ALLIACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium tuberosum Rottl. ex Spreng

ชื่อพ้อง : Allium odoratum L.

ชื่อสามัญ : Chinese chive

ชื่อพื้นเมืองอื่น : กุยช่าย (กรุงเทพฯ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก (ExH) เป็นไม้ล้มลุกสูง 10-30 ซม. มีลำต้นอยู่ใต้ดินเป็นเหง้าเล็ก ๆ แล้วค่อยแตกกอออก ทั้งต้นมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะใบรูปขอบขนาน เรียวยาวและแบน กว้าง 2-9 มม. ยาวประมาณ 10-20 ซม. ขอบใบเรียบไม่มีขน ปลายใบแหลม โคนใบเป็นกาบบางซ้อนกันสีขาว แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน

ดอก ออกดอกจากโคนต้น สูงประมาณ 50 ซม. ดอกเป็นช่อกระจุกสีขาว ลักษณะช่อซี่ร่ม ก้านช่อดอกยาว กลีบดอกมี 6 กลีบสีขาวยาว 5 มม. กลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาวเท่ากัน มีใบประดับสีขาว มีริ้วสีเขียวหุ้มช่อดอก เกสรตัวผู้ 6 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน

ผล แตกได้ 3 พู

เมล็ด ภายในผลมี 3 ช่อง มีช่องละ 1-2 เมล็ดสีน้ำตาล รูปร่างแบน

นิเวศวิทยา

มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น นิยมปลูกเพื่อการค้าตามสวนครัวหรือตามบ้านเรือน

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ในดินร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดีปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือแยกหน่อหรือลำต้นปักชำ

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ต้นและใบ รสร้อนฉุน โขลกละเอียดผสมเหล้าและสารส้มเล็กน้อย กรองดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา แก้โรคนิ่วและหนองใน

ใบ รสร้อนฉุน แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ฟกบวม แก้แน่นหน้าอก แก้ไอ ฆ่าเชื้อโรคในแผลสด แก้แผลหนองเรื้อรัง แก้หูน้ำหนวก แก้ผื่นคันตามลำตัว แก้อ่อนเพลีย แก้เลือกกำเดาไหล เป็นยาแก้หวัด บำรุงกระดูก ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด ใบมีฟอสฟอรัสสูง เป็นยาแก้หวัด บำรุงกระดูก แก้ลมพิษ

ดอกตูม ใบ และทั้งต้น รสร้อนฉุน นิยมนำมาใช้เป็นผักเคียงกับผัดไท หรือผัดน้ำมันรับประทานเป็นยาช่วยสร้างเมล็ดเลือดแดง กากใยช่วยในระบบขับถ่าย

เมล็ด รสเค็มร้อน ขับพยาธิเส้นด้ายหรือพยาธิแส้ม้า

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. เป็นยาทารักษาลมพิษ โดยใช้ทั้งต้นประมาณ 5-10 ต้น นำมาโขลกให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง แล้วใช้ทาและพอกบริเวณที่เป็นลมพิษวันละ 3-4 ครั้ง
  2. แก้อาการอ่อนเพลีย โดยใช้ส่วนของเมล็ดประมาณ 2 ถ้วนชา แล้วเติมน้ำ 13-15 ถ้วยชา ต้มรวมกับข้าวสารเจ้าประมาณ 3 ถ้วยชา ประมาณ 10-15 นาที หรือเคี่ยวให้เหลือน้ำ 6 ถ้วยชา แล้วกรองเอาน้ำดื่ม 3 ครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจ