กะหล่ำปลี (Cabbage)

กะหล่ำปลีเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นสั้น ใบซ้อนหลายชั้นเกาะกันแน่น ลักษณะเป็นหัวกลม เส้นใบนูนชัดเจน เพราะเก็บสะสมอาหารไว้ที่เส้นใบและก้านใบ รสหวานอ่อน ๆ เนื้อกรอบของกะหล่ำปลีสดเข้ากันดีเมื่อกินคู่กับลาบ ส้มตำ ยำ แหนม หรือไส้กรอกอีสาน เมนูปรุงกะหล่ำปลีก็เช่น ผัดน้ำมันหอย กะหล่ำปลีทอดน้ำปลา แกงจืด กะหล่ำปลียัดไส้ ในต่างประเทศก็กินกะหล่ำปลีกันไม่น้อย เช่นนำไปทำสกัดกะหล่ำปลีที่เรียกว่า ‘โคลสลอว์” (Coleslaw)

กะหล่ำปลีสดมีสารกอยโตรเจน (Goitregen) ที่ขัดขวางการดูดซึมสารไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ ก่อให้เกิดโรคคอหอยพอก ซึ่งอันตรายดังกล่าวจะเกิดขึ้น เมื่อกินกะหล่ำปลีดิบในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่สารนี้จะสลายไปเมื่อผ่านการปรุงด้วยความร้อนอีกทั้งเมื่อปรุงสุกกะหล่ำปลีจะอ่อนนุ่มและยิ่งมีรสหวานขึ้นด้วยกะหล่ำปลีมีกลิ่นเฉพาะตัวที่บางคนก็บอกว่าเหม็นเขียว เป็นกลิ่นที่เกิดจากสารซัลเฟอร์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยย่อยอาหาร จากการวิจัยยังพบว่า สารซัลเฟอร์อาจป้องกันการเกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้ กะหล่ำปลียังมีวิตามินซี เบตาแคโรทีน และเส้นใยอาหารด้วย

กะหล่ำปลีม่วงหรือกะหล่ำปลีแดง (Red Cabbage) ที่นิยมใส่ในสลัด นำไปผัด หรือใช้เพิ่มสีสันในอาหาร เป็นพืชชนิดเดียวกับกะหล่ำปลี แต่คนละสายพันธุ์ จุดเด่นของกะหล่ำปลีม่วงคือ มีสารชื่อ แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูงมาก

การเลือกซื้อกะหล่ำปลี ให้เลือกหัวที่น้ำหนักไม่เบาจนเกินไป ไม่มีรอยช้ำหรือเน่าเสีย แต่หากมีรอยหนอนเจาะเพียงใบที่อยู่ข้างนอกก็ให้เด็ดออก ก่อนจะนำกะหล่ำปลีมากินสดหรือปรุงอาหาร ควรล้างจนมั่นใจว่าสะอาด เพราะกะหล่ำปลีเป็นผักที่มีแมลงศัตรูพืชรบกวนสูง เกษตกรจึงใช้สารเคมีในขั้นตอนการปลูกเป็นจำนวนมาก

blank

สิ่งที่น่าสนใจ