กะทกรก

ชื่อวงศ์ : PASSIFLORACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Passiflora foetida L.

ชื่อสามัญ : Stinking passion flower, Running POP

ชื่อพื้นเมืองอื่น : ผักแคบฝรั่ง (ภาคเหนือ) ; เถาเงาะ, เถาสิงโต (ชัยนาท) ; หญ้าถลกบาต (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์) ; กะทกรก, รก (ภาคกลาง) ; ตำลึงฝรั่ง (ชลบุรี) ; เครือขนตาช้าง (ศรีสะเกษ) ; ผักขี้หิด (เลย) ; เยี่ยววัว (อุดรธาณี) ; ละพุบาบี (มลายู-นราธิวาส, ปัตตานี) ; หญ้ารกช้าง (พังงา) ; กระโปรงทอง (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้เถาล้มลุก (HC) ประเภทเถาเลื้อย อายุประมาณ 2-5 ปี มีเกาะเกี่ยวพันต้นไม้อื่น ลำต้นกลมสีเขียวมีขนสีทองออกนุ่มปกคลุมทั่วไป ยอดอ่อนสีเขียวเหลือง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ก้านใบยาว 3-5 ซม. ลักษณะใบรูปหัวใจ ค่อนข้างเรียบ ขอบใบเว้าเข้าหากลางใบเล็กน้อย เป็นรูป 3-4 แฉก ปลายแฉกค่อนข้างแหลม มีขนปกคลุมห่าง ๆ โคนใบเว้าเข้าก้านใบ ขนาดใบกว้าง 5-8 ซม. ยาว 8-15 ซม. ใบมีสีเขียวเข้มออกมัน

ดอก ลักษณะดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ กลีบดอกสีเขียวอ่อน มีกระบังเป็นฝอยสีขาวล้อมรอบอับเกสร

ผล ค่อนข้างกลมขนาดประมาณ 1 ซม. สีเขียวอ่อน เมื่อสุกสีส้มเหลือง เนื้อหุ้มเมล็ดรสหวานอมเปรี้ยว รอบผลมีใบประดับหุ้ม ภายในมีเมล็ดกระจายเป็นกลุ่ม

เมล็ด มีเยื่อหุ้มคล้ายเมล็ดแมงลักเมื่อแช่น้ำ เมล็ดสีเทาดำ

นิเวศวิทยา

มีขึ้นทั่วไปตามที่รกร้างว่างเปล่า ที่ลุ่มต่ำตามสวนไร่นา

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ในดินสภาพทั่วๆ ไป ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ทั้งหัว รสเมาเบื่อ เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้โรคเหน็บชา ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ

ใบ รสเมาเบื่อ โขลกพอกฆ่าเชื้อบาดแผล แก้โรคผิวหนัง หิด

ผล หรือเมล็ด ผลสุก รสหวาน บำรุงปอด แก้ปวด ผลดิบ รสเมาเบื่อ

ดอก รสเมา ขับเสมหะ แก้ไอ

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. บำรุงหัวใจและแก้โรคเหน็บชา โดยใช้ทั้งต้นสับเป็นชิ้นแล้วตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1 กำมือ หรือ 15-20 กรัม นำมาเติมน้ำ 3 แก้ว (750 ซีซี) ต้มและเคี่ยวให้เหลือน้ำ 2 แก้ว กรองเอาน้ำดื่ม
  2. รักษาหิด โดยใช้ใบสด 1 กำมือ โขลกให้ละเอียดผสมน้ำเล็กน้อย ใช้ทาหรือพอกบริเวณที่เป็น วัน 3-4 ครั้ง

ข้อควรระวัง

  • ใบสด มีสารพิษทำให้เกิดการอาเจียนได้
  • ต้นสดทั้งต้น รสเมาเบื่อ มีสารพิษ ซึ่งพิษจะสลายตัวเมื่อถูกความร้อน

สิ่งที่น่าสนใจ