กระบือเจ็ดตัว

ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Excoecaria cochinchinensis Lour. var. cochichinensis

ชื่อพ้อง : Excoecaria bicolor (Hassk.) Zoll. ex Hassk.

ชื่อสามัญ : –

ชื่อพื้นเมือง : กระบือเจ็ดตัว, กำลังกระบือ, ลิ้นกระบือ (ภาคกลาง) ; กะเบือ (ราชบุรี) ; ใบท้องแดง (จันทบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่ม (ExS) สูงประมาณ 70-150 ซม. ทุกส่วนมียางขาวเหมือนน้ำนม กิ่งเรียวเล็ก เปลือกสีแดงอมม่วง

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้ามกันหรือเรียงสลับ ลักษณะใบรูปขอบขนานหรือขอบขนานแกมไข่กลับ โคนใบแหลม ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ ขอบใบหยักห่าง ๆ เส้นใบ 12-13 คู่ ใบอ่อนสีแดงผิวเป็นมัน ใบแก่ด้านบนสีเขียว ด้านล่างสีแดงอมม่วง ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. หูใบเป็นรูปหอก ปลายแหลม

ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบและที่ยอด มีทั้งดอกเพศผู้ ดอกเพศเมียและดอกสมบูรณ์เพศ อาจจะอยู่บนต้นเดียวกันหรือต่างต้นกันก็ได้ ดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศช่อยาวประมาณ 2 ซม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม กลีบรองกลีบดอก 3 กลีบ รูปยาวแคบ ปลายแหลมดอกเพศเมีย กลม มักจะออกทีละ 3 ดอก ใบประดับเหมือนดอกเพศผู้ ก้านดอกสั้นมาก กลีบรองกลีบดอก 3 กลีบ รูปไข่ปลายแหลม ขอบหยักเล็กน้อย ดอกมีสีเหลืองอมเขียวขนาดเล็ก ออกดอกตลอดปี

ผล เป็นชนิดแก่แล้วแห้ง รูปค่อนข้างกลม ไม่มีเนื้อ มี 3 พู เมื่อแก่แตกเป็น 3 ส่วน

เมล็ด ลักษณะกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 ม.ม.

นิเวศวิทยา

เป็นไม้ในเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดแถบอินโดจีน นิยมปลูกทั่วไปเพื่อเป็นไม้ประดับ

การปลูกและขยายพันธุ์

สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนทั่วๆ ไป ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง หรือ การตอนกิ่ง

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ลำต้น รสร้อนเฝื่อน ยางจากลำต้นเป็นพิษมาก ใช้ในการเบื่อปลา

ใบ รสร้อนเฝื่อนขื่น เนื่องจากท้องใบมีสีแดง จึงเชื่อกันว่าสามารถใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของระบบโลหิตบางชนิด ชาวชวาใช้ใบโขลกเป็นยาพอกห้ามเลือด ตำรายาแพทย์แผนไทยนำใบโขลกผสมกับสุรา กลั่นคั้นเอาน้ำดื่มแก้สันนิบาตหน้าเพลิง ยาขับเลือดเสียและขับน้ำคาวปลาในสตรีหลงคลอดบุตร แก้อักเสบบริเวณปากมดลูก

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด ขับเลือดเน่า โดยใช้ใบสด 10-15 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด โขลกให้ละเอียด ผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย คั้นเอาน้ำ ค่อยๆ จิบ เช้า-เย็น

ข้อควรทราบ

  • ไม่ควรใช้ในสตรีที่มีครรภ์ เพราะถ้าใช้ในปริมาณที่มาก อาจจะทำให้แท้งได้
  • ใบสดต้นกระบือเจ็ดตัวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ได้อีกด้วย เพราะมีสีแดงสดใส

สิ่งที่น่าสนใจ