
หว้าเป็นไม้ที่เกิดในป่า ผลหว้าเป็นอาหารอันโปรดปรานของบรรดานกทั้งหลาย โดยเมื่อกินเข้าไปแล้วก็จะถ่ายเมล็ดออกมา เป็นการช่วยขยายพันธุ์หว้าได้อีกทางหนึ่ง หว้าออกผลเป็นพวง ผลรูปไข่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีเมล็ดแข็ง 1 เมล็ด เปลือกบาง เป็นมันเงา ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มจนถึงม่วงอมดำ
ด้วยรสชาติเปรี้ยวอมหวานและมีรสฝาดปน อาจทำให้หว้าเป็นผลไม้ที่คนไม่ค่อยนิยมกินกันมากนัก แต่ที่จริงแล้วเนื้อบางๆ ที่หุ้มเมล็ดหว้ามีสรรพคุณต่อร่างกายเป็นอย่างมาก คือมีสารแทนนินซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมาน ช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและสมานแผล ซึ่งสารนี้ยังพบว่ามีมากในเมล็ด เปลือกต้น และใบ หว้ามีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายจะย่อยจนกลายเป็นกลูโคส แล้วเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อใช้เป็นพลังงาน มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสช่วยบำรุงให้กระดูกและฟันแข็งแรงยิ่งขึ้น วิตามินซีเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคลักปิดลักเปิด รวมถึงมีโพแทสเซียม แมกนีเซียม และเหล็กด้วย
ตามตำรับยาพื้นบ้านใช้เปลือกต้นหว้าต้มน้ำแล้วอม เพื่อแก้อาการปากเปื่อย ใบมีน้ำมันหอมระเหยช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ใช้ตำแล้วทาแก้โรคผิวหนัง หรือต้มกับน้ำแล้วล้างแผลได้ ชาวอินเดียใช้หว้าเป็นยาสมุนไพรมาแต่โบราณ โดยนำผลหว้าแห้งหรือสดมาต้มน้ำดื่มสำหรับรักษาโรคเบาหวาน ปัจจุบันประเทศทางตะวันตกได้นำส่วนต่างๆ ของหว้ามาสกัด ออกวางจำหน่ายในรูปสารสกัด ผงแห้ง หรือแคปซูล และมีผลการศึกษาในคนและสัตว์ทดลองออกมาว่า เมล็ดหว้ามีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งโรคเบาหวาน และเพิ่มปริมาณไกลโคเจนในตับ
เมื่อกินหว้าแล้วปากและลิ้นจะเป็นสีแดงอมม่วง ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะสารสีธรรมชาตินี้คือสารแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง ช่วยบำรุงสายตา ลดอาการอักเสบ และป้องกันไขมันอุดตันในหลอดเลือด จึงลดความเสี่ยงจาการเป็นโรคหัวใจ ซึ่งนอกจากจะกินเล่นเป็นผลไม้แล้ว ยังมีการนำผลหว้ามาหมักเป็นน้ำส้มสายชูและไวน์ นำมาทำซอส แยม หรือน้ำผลไม้โดยคั้นจากลูกหว้ายังถือเป็นเครื่องดื่มที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ฉันเป็นน้ำปานะได้ด้วย