
ชื่อวงศ์ : AMARANTHACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Celosia argentea L.
ชื่อสามัญ : Cocks comb
ชื่อพื้นเมืองอื่น : ดอกด้าย, ด้ายสร้อย, หงอนไก่, สร้อยไก่ (ภาคเหนือ ) ; พอคอที (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; หงอนไก่ดง (นครสวรรค์) ; หงอนไก่ดอกกลม, หงอนไก่ไทย, หงอนไก่ฝรั่ง, หงอนไก่ฟ้า (ภาคกลาง) ; กระลารอน (เขมร-ปราจีนบุรี) ; ซองพุ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก (H) ขนาดเล็ก สูงประมาณ 0.4-1.5 เมตร ลำต้นตั้งตรงและมีร่องตามแนวลำ
ต้น แตกกิ่งก้านสีเขียว หรือสีเขียวแกมแดง
ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวและจะมีสีแดงแต้ม ใบที่อยู่ด้านล่างจะมีขนาดใหญ่ และก้านใบยาว ส่วนใบที่อยู่ตามยอด จะมีขนาดเล็กและก้านใบสั้น
ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลด และมีดอกย่อยอัดกันแน่นเป็นกระจุก ออกช่อตามยอดและปลายกิ่ง ลักษณะเป็นแท่งยาว มีใบประดับรองรับ 2 ใบ ดอกย่อยมีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีหลายสี เช่น สีชมพูเงิน แดง ม่วง เหลือง ส้มและขาว

ผล เป็นผลชนิดแห้งแล้วแตก และมีการแตกของผลแบบฝาเปิด ผลลักษณะรูปทรงกลม ข้างในมีเมล็ด
เมล็ด ลักษณะรูปกลมแบน เปลือกนอกเมล็ดเป็นสีดำแข็งและเป็นมัน
นิเวศวิทยา
มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่อเมริกาเขตร้อน พบขึ้นตามที่โล่งแจ้งทั่วไป ตามริมฝั่งแม่น้ำทางภาคเหนือ ตามไร่นา และบางครั้งก็ปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนสาธารณะ และตามบ้านเรือน
การปลูกและขยายพันธุ์
เป็นไม้กลางแจ้ง ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนทั่วๆ ไป ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์ทางยา
รสและสรรพคุณในตำรายา
ราก รสขม แก้ไข้ บำรุงธาตุ ขับเสมหะ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้หืด แก้โลหิตเป็นพิษ แก้ไข้พิษ
ใบและกิ่งก้าน รสฝาดเฝื่อน ห้ามเลือด แก้บิด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ผดผื่นคัน แก้ริดสีดวงทวารมีเลือดออก กระอักเลือด
ดอก รสฝาดเฝื่อน แก้โรคบิด แก้โรคเลือดลมไม่ปกติ ห้ามเลือด แก้ริดสีดวงทวารที่มีเลือดออก แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ แก้ตกขาว แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ตาแดง แก้ปวดศีรษะ เยื่อตาอักเสบ ถ่ายเป็นมูกเลือด ไอ หรืออาเจียนเป็นเลือด ตกเลือด
เมล็ด รสขมชุ่มเย็น แก้ความดันเลือดสูง แก้บิดมูกเลือด แก้ริดสีดวงทวาร แก้อักเสบ และเม็ดผดผื่นคัน
วิธีและปริมาณที่ใช้
- แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้ดอกตากแห้ง 10-15 กรัม นำมาต้มน้ำ 500 ซีซี แล้วกรองเอาน้ำดื่ม หรือใช้ก้านและใบสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มหรือคั้นเอาน้ำดื่มก็ได้
- แก้ความดันโลหิตสูง โดยใช้เมล็ดแห้งประมาณ 5-10 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทาน
- แก้ตะขาบกัด โดยใช้ลำต้นที่อ่อนโขลกให้ละเอียด อาจจะผสมเหล้าโรงเล็กน้อย แล้วใช้ทาและพอกบริเวณที่ถูกตะขาบกัด
- แก้บิด, ถ่ายเป็นมูกเลือด, เยื่อตาอักเสบ และโรคตาแดง โดยใช้ดอกสดประมาณ 30-60 กรัม หรือดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่มเป็นยา
ข้อควรทราบ
- หญิงที่อยู่ในระหว่างมีประจำเดือน ไม่ควรรับประทาน