ชื่อวงศ์ : RHAMNACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ziziphus mauritiana Lam.
ชื่อสามัญ : –
ชื่อพื้นเมืองอื่น : พุทรา (ภาคกลาง) ; มะตัน (ภาคเหนือ) ; มะท้อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ; มั่งถั่ง (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; หมากขอ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดเล็ก (ST) ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนาม แหลมคมโค้งมีความสูงประมาณ 10 เมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตามกิ่งก้าน ลักษณะใบรูปทรงกลม ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวสดผิวเรียบ และมีเส้นแขนงมองเห็นชัดเจน ท้องใบเป็นพรายปรอทหม่น ผิวสาก ก้านใบสั้น
ดอก ออกดอกเป็นช่อ มีสีเหลือง ตามซอกใบ
ผล ลักษณะรูปทรงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 5-10 มม. ผลมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองส้มออกแดง มีเมล็ดอยู่ภายใน 1 เมล็ด
นิเวศวิทยา
เป็นไม้พื้นเมืองของเอเชีย เกิดขึ้นเองตามป่าราบทั่วไป นิยมปลูกตามสถานที่ต่าง ๆ ต้องการแสงแดดมากพอสมควร
การปลูกและขยายพันธุ์
เป็นไม้ที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกสภาพ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง
ประโยชน์ทางยา
รสและสรรพคุณในตำรายา
เปลือกต้นและใบ รสฝาดเปรี้ยว แก้อาการท้องร่วง และอาเจียน แก้จุกเสียด แก้ลงท้อง
ผลดิบ รสฝาด แก้ไข้ สมานแผล
ผลสุก รสหวานเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้ไอ เป็นยาระบาย
เมล็ด รสเฝื่อนฝาด ใช้เผาไฟป่นเป็นยารักษาซางชักของเด็ก หรือใช้โขลกสุมหัวเด็ก รักษาอาการหวัด คัดจมูกเวลาเย็น ๆ
ทั้ง 5 รสฝาดเฝื่อน รักษาอาการบวม แก้พยาธิ แก้ฝีทั้งปวง อาการลงท้อง แก้ตกเลือด
วิธีและปริมาณที่ใช้
- แก้ท้องร่วง จุกเสียด และอาเจียน โดยใช้เปลือกต้นสดและใบ 10-20 กรัม นำมาต้มในน้ำเดือด กรองเอาน้ำดื่ม เช้า-เย็น หรือจนกว่าจะหาย
- แก้หวัด คัดจมูก ในตอนเย็น ๆ ให้ใช้ใบสด 10-15 กรัม นำมาโขลกให้ละเอียด แล้วนำมาสุมศีรษะ
1. โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย, ส่อเสียด
2. ทุกความเห็นต้องไม่มีการดูหมิ่น, กล่าวหาให้ร้าย, สร้างความแตกแยก หรือ "กระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ"
3. ทางเว็บไซต์จะขอลบความคิดเห็นโดยทันที เมื่อความเห็นไม่เป็นไปตามข้อตกลง