
ชื่อวงศ์ : LABIATAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthosiphon aristatus Miq. ; Orthosiphon grandiflorus Bold.
ชื่อสามัญ : Cat’s Whisker
ชื่อพื้นเมืองอื่น : พยับเมฆ (กรุงเทพฯ) ; หญ้าหนวดแมว (ทั่วไป) ; อีตู่ดง (เพชรบูรณ์) ; บางรักป่า (ประจวบคีรีขันธ์)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุก (H) ขนาดเล็ก ลำต้นจะมีความสูงประมาณ 30-80 ซม. กิ่งอ่อนและลำต้นจะเป็นสี่เหลี่ยม โคนต้นอ่อนโค้ง ปลายตั้งตรง ตามยอดอ่อนมีขนกระจาย
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ ยกเว้นขอบที่โคนใบจะเรียบ ตรงกลางใบจะกว้างกว่าตรงปลาย และโคนใบมีขนตามเส้นใบทั้งด้านบนและด้านล่าง เนื้อใบบาง ก้านใบยาวมีขน
ดอก ออกดอกตรงปลายยอด สีขาวหรือขาวอมม่วงอ่อน ออกเป็นช่อกระจะ ลักษณะรูปฉัตร ริ้วประดับรูปไข่ ไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง งอเล็กน้อย ด้านนอกมีต่อมน้ำมันหรือเป็นปุ่ม ๆ กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดตรงเล็ก ปลายแยกเป็นปาก ปากบนมีหยักตื้นๆ 4 หยัก โค้งไปทางด้านหลัง ปากล่างตรง โค้งเป็นรูปซ้อน
ผล รูปขอบขนานกว้าง แบน ยาวประมาณ 1.5 มม. ตามผิวมีรอยย่น
นิเวศวิทยา
มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย พม่า แหลมอินโดจีน หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ชวา ฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลีย ส่วนประเทศไทยพบตามพื้นที่ราบทั่ว ๆ ไป นิยมปลูกตามบ้านหรือตามวัดเพื่อเป็นไม้ประดับและเป็นยา
การปลูกและขยายพันธุ์
เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบขึ้นในที่ชื้น มีแสงแดดรำไร ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเป็นแปลงแบบยกร่อง
ประโยชน์ทางยา
รสและสรรพคุณในตำรายา
ทั้งต้น รสจืด แก้กระษัย ไตพิการ ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว แก้หนองใน ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันเลือด ขับล้างพิษในระบบทางเดินปัสสาวะ
ใบ รสจืด ใช้รักษาโรคไต ขับปัสสาวะ รักษาโรคคุดทะราด ขับนิ่ว แก้โรคหนองใน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้ปวดเมื่อยและไขข้ออักเสบ
วิธีและปริมาณที่ใช้
- แก้อาการขัดเบา ขับปัสสาวะ โดยนำใบสดที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ล้างน้ำให้สะอาดและนำมาตากในที่ร่มให้แห้ง ประมาณ 4 กรัมหรือ 4 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 750 มิลลิเมตร เหมือนกับชงชาดื่มวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
- ลดความดันเลือด แก้โรคหนองใน โดยใช้รากทั้งต้น (กิ่งและใบ) ประมาณ 90-120 กรัม ถ้าแห้งใช้ 40-50 กรัม ต้มในน้ำเดือด 500 ซีซี ประมาณ 5-10 นาที กรองเอาน้ำดื่มครั้งละ 75 ซีซี วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร
ข้อควรทราบ
- คนที่เป็นโรคไต โรคหัวใจห้ามรับประทาน เพราะใบพยับเมฆจะประกอบด้วยเกลือของสารโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งถ้าไตไม่ปกติจะไม่สามารถขับถ่ายโพแทสเซียมออกจากร่างกาย ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้
1. โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย, ส่อเสียด
2. ทุกความเห็นต้องไม่มีการดูหมิ่น, กล่าวหาให้ร้าย, สร้างความแตกแยก หรือ "กระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ"
3. ทางเว็บไซต์จะขอลบความคิดเห็นโดยทันที เมื่อความเห็นไม่เป็นไปตามข้อตกลง