จำปา

ชื่อวงศ์ : MAGNOLIACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Michelia champaca L.

ชื่อสามัญ : Champak, Orange chempaka, Sonchampa

ชื่อพื้นเมืองอื่น : จำปา (ทั่วไป) ; จำปากอ (มลายู-ภาคใต้) ; จำปาเขา (ตรัง) ; จำปาทอง (นครศรีธรรมราช) ; จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ต้น (ST) ขนาดกลาง สูงประมาณ 8-25 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาปนดำ ค่อนข้างเรียบ พอลำต้นแก่จะแตกเป็นร่องบ้าง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะใบรูปรียาว ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมน เส้นใบแตกออกจากเส้นกลางใบมีเส้นแขนงสานกันเป็นร่างแห และตามเส้นใบมีขนสีน้ำตาล หลังใบอ่อนมีขน พอใบแก่จะเกลี้ยง ท้องใบมีขนละเอียดสั้น แผ่นใบแผ่เป็นลอนคลื่นตามเส้นใบ ขอบใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 ซม. มีขนสีน้ำตาล

ดอก ออกดอกเดี่ยว ออกตามบริเวณง่ามใบ สีเหลืองอมส้ม กลีบดอกมีประมาณ 10 กลีบ ปลายกลีบดอกเป็นรูปหอก โคนกลีบดอกคอดแคบลง เกสรสีเหลืองอ่อน เกสรตัวผู้อยู่รอบเกสรตัวเมียเป็นจำนวนมาก เกสรตัวเมียจะยื่นพุ่งขึ้นไป 1 อัน

ผล เป็นผลกลุ่ม รูปทรงค่อนข้างกลมเบี้ยวเล็กน้อย มีแนวแตกของเมล็ดเป็นร่อง 1 แนวตรงกลางผล ผิวขรุขระ มีตุ่มระบายอากาศเล็กๆ สีขาวทั้งผล พอผลแก่จะแตกอ้าออก

เมล็ด เมล็ดมีเนื้อหุ้ม ฉ่ำน้ำสีแดง เมล็ดสีดำมีลักษณะแบนเป็นเหลี่ยมหลายเหลี่ยม แข็ง มีจำนวน 3-4 เมล็ด ต่อ 1 ผล

นิเวศวิทยา

มีถิ่นกำเนิดที่ไทย อินเดีย ตอนใต้ของจีน พม่า และประเทศแถบทางอินโดจีน เป็นไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดด และชอบความชื้น ขึ้นได้ทั่วไปทุกภาคของไทยตามป่าดงดิบและป่าดิบเขา นิยมปลูกตามบ้านเรือนเพื่อเป็นไม้ประดับและใช้ประโยชน์ทางยา

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ในดินทั่วๆ ไป ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการตอนกิ่ง หรือทาบกิ่ง เมล็ดงอกง่าย ต้นกล้าจากเมล็ดจะมีลำต้นตั้งตรงระบบรากสมบูรณ์และโตเร็ว

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ดอก รสขมหอม เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท บำรุงโลหิต แก้ปวดศีรษะ แก้ไข้ แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด แก้หนองใน บำรุงน้ำดี รักษาหิด ฝี แก้โรคไต แก้อาการเกร็ง ช่วยขับปัสสาวะ แก้ธาตุผิดปกติ บำรุงธาตุ สารสกัดจากดอกจำปาขจัดการฝังตัวของตัวอ่อนในหนูขาว ระวังการใช้กับสตรีที่ต้องการตั้งครรภ์

ใบ รสเฝื่อนขม แก้เส้นประสาทพิการ แก้โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ รักษาริดสีดวงทวาร

ผล รสขม แก้เท้าแตก น้ำมันจากเมล็ดทาหน้าท้องแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

ราก รสเฝื่อนขม เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับประจำเดือน พอกให้ฝีแตก ระงับอาการอักเสบ

เนื้อไม้ รสเฝื่อนขม บำรุงโลหิต

เปลือกต้น รสฝาดเฝื่อนขม แก้คอแห้ง แก้ไข้ บำรุงหัวใจ ขับเสมหะ แก้โรคเรื้อน

กระพี้ รสเฝื่อนขม ถอนพิษผิดสำแดง

น้ำมันหอมระเหย สกัดจากดอก รสหอมเย็น ใช้ทาแก้ปวดศีรษะ แก้ตาอักเสบ แก้โรคปวดบวมที่ข้อ แก้อาการบวม

ยาง รสเฝื่อนเมา กรีดยางนำมาทำเป็นยาแก้ริดสีดวงพลวก

สิ่งที่น่าสนใจ