
ชื่อวงศ์ : DRACAENACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dracaena loureiri Gagnep.
ชื่อสามัญ : –
ชื่อพื้นเมืองอื่น : จันทน์แดง (ภาคกลาง-สุราษฎร์ธานี) ; จันทน์ผา (ภาคเหนือ) ; ลักกะจันทน์ (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้นขนานเล็ก (S/ST) สูงประมาณ 2-4 เมตร ลำต้นกลมตั้งตรง เปลือกลำต้นเป็นร่องขวางคล้ายข้อถี่ ๆ สีเทา ที่เกิดจากใบหลุดร่วงไป ไม่แตกกิ่งก้าน แก่นมีสีแดง
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับถี่ที่ปลายยอด ลักษณะใบรูปรียาว ปลายใบเรียวแหลม โคนใบติดกับลำต้น ไม่มีก้านใบ ลักษณะเป็นกาบหุ้มซ้อนทับกันรอบลำต้น ขอบใบเรียบขนานกัน เนื้อใบหนา กรอบ ใบมีสีเขียวเข้ม ใบกว้าง 4-5 ซม. และยาวประมาณ 45-80 ซม.
ดอก ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ตามซอกใบ โค้งห้อยลง ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีกลีบดอก 6 กลีบ ตรงกลางดอกมีจุดสีแดง ออกดอกช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม
ผล ออกเป็นช่อลักษณะพวงคล้ายหมาก รูปทรงกลมเล็กๆ สีเขียว เมื่อสุกสีแดงคล้ำ
นิเวศวิทยา
ขึ้นตามภูเขาหินปูนหรือลูกรัง หรือเกิดตามป่าเขาแล้งทั่วไป ชอบแดดจัด ทนแล้งได้ดี
การปลูกและขยายพันธุ์
เป็นไม้ที่ทนต่อสภาพอากาศได้ดี เจริญเติบโตได้ในดินทุกสภาพ ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือการปักชำต้น
ประโยชน์ทางยา
รสและสรรพคุณในตำรายา
แก่นหรือเนื้อไม้ รสขมเย็น เนื้อไม้ที่มีเชื้อราลงจนเป็นสีแดงเข้มเรียกว่า จันทร์แดง ใช้เป็นยาเย็น ดับพิษไข้ บำรุงหัวใจ แก้ไออันเกิดจากซางและดี แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ไข้เพื่อดีพิการ ฝนทาภายนอกแก้ฟกช้ำ บวม ฝี และแก้บาดแผล
วิธีและปริมาณที่ใช้
- แก้ฟกช้ำ บวม ฝี โดยใช้แก่นหรือเนื้อไม้ฝนกับฝาละมี ใช้ทาหรือพอกบริเวณที่เป็น เช้า-เย็น
- ดับพิษไข้ บำรุงหัวใจ แก้ไออันเกิดจากซางและดี โดยใช้แก่นหรือเนื้อไม้ 50 กรัม สับเป็นชิ้นต้มในน้ำ 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่งกรองเอาน้ำดื่มวันละ 2 เวลา
ข้อควรทราบ
แก่นจันทน์แดง ใช้เป็นยาส่วนผสมในน้ำยาอุทัย และใช้ทำยาหอมได้อีกด้วย