
ชื่อวงศ์ : MYRTACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry
ชื่อสามัญ : Clove
ชื่อพื้นเมืองอื่น : กานพลู (ทั่วไป)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้นขนาดเล็ก (ExST) ลำต้นลักษณะเป็นทรงพุ่มรูปกรวย สูงประมาณ 4-12 เมตร มีกิ่งล่างเป็นจำนวนมาก มีกิ่งกระโดงหรือกิ่งใหญ่ประมาณ 3-5 กิ่ง เปลือกลำต้นมีสีเหลืองน้ำตาล
ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะใบรูปขอบขนานเป็นมัน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ ใบอ่อนมีสีชมพูหรือสีส้ม และเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเป็นมัน มีกลิ่นหอม เผ็ดร้อนและมีจุดน้ำมันอยู่ทั่วไปบนใบ
ดอก ออกดอกเป็นช่อกระจุก ลักษณะคล้ายดอกชมพู่ เกิดบริเวณปลายกิ่งหรือปลายยอดหรือซอกใบ ช่อหนึ่งๆ ประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 10-15 ดอก ดอกตูมอ่อนจะมีสีเขียวและก่อนที่ดอกจะบานสีของดอกจะค่อยๆ จางลงเป็นสีเหลืองและสีชมพูเรื่อๆ ขณะที่ดอกตูมจะมีสีชมพูอมแดง
ผล เป็นผลเดี่ยวเนื้อหนา ผลอ่อนสีเขียว ผลที่สุกมีสีม่วงคล้ำคล้ายลูกหว้า
เมล็ด เป็นเมล็ดเดี่ยว มีลักษณะค่อนข้างนิ่ม ด้านหนึ่งของเมล็ดเป็นร่องลึกลงไป
นิเวศวิทยา
เป็นพืชในภูมิภาคที่มีอากาศร้อนชื้น หรือในพื้นที่ที่มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ปลูกมากในบริเวณเกาะสุมาตรา เกาะทะเลอินเดีย ประเทศอเมริกา ประเทศแอฟริกา ให้ผลผลิตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัด มีร่มบ้างพอสมควร
การปลูกและขยายพันธุ์
เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายหรือในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน และการทาบกิ่ง ซึ่งการเพาะเมล็ดนิยมมากที่สุดเพราะทำให้ได้กานพลูที่มีระบบรากที่แข็งแรง ปลูกโดยเลือกเมล็ดสุกสีดำนำมาแช่น้ำแล้วลอกเอาเนื้อหุ้มเมล็ดออกก่อนนำไปปลูก
ประโยชน์ทางยา
รสและสรรพคุณในตำรายา
เปลือกต้น รสร้อนปร่า แก้ปวดท้อง แก้ลม คุมธาตุ
ใบ รสร้อน แก้ปวดมวน
ดอก รสเผ็ดร้อนปร่า ใช้เป็นยาแก้พิษโลหิต แก้ปวดท้อง แก้ลม เป็นเหน็บชา แก้พิษน้ำเหลือง แก้อุจจาระให้เป็นปกติ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน แก้หืด ละลายเสมหะ ดิบกลิ่นปาก เป็นต้น
ดอก เมื่อตากแห้งแล้วจะเป็นสีแดงน้ำตาล นำมากลั่น ใช้ 0.12-0.3 กรัม จะเป็นยาแก้ท้องขึ้น ธาตุพิการ ขับผายลมในลำไส้ เป็นยาบำรุง
ผล ร้อนร้อนปร่า ใช้เป็นเครื่องเทศ เป็นตัวช่วยให้มีกลิ่นหอม
น้ำมันกานพลู รสเผ็ดร้อนปร่า ใช้เป็นยาระงับกระตุก แก้ปวดท้อง ขับผายลม และใช้สำลีชุบนำมาอุดฟันที่ปวด
วิธีและปริมาณที่ใช้
- ยาแก้ปวดฟัน โดยใช้น้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำมันและทาบริเวณที่ปวดฟัน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แก้โรครำมะนาดได้อีกด้วย หรือใช้ทั้งดอกเคี้ยว แล้วอมไว้ตรงบริเวณที่ปวดฟันเพื่อระงับอาการปวด
- รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และแน่นจุกเสียด โดยใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก หรือประมาณ 0.2-0.6 กรัม นำมาต้มเอาน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงชงเป็นน้ำชาดื่ม ป้องกันอาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ของเด็กอ่อน โดยใช้ดอกแห้ง 1-3 ดอก แช่ไว้ในกระติกน้ำร้อนที่ใช้ชงนมให้เด็กอ่อน
1. โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย, ส่อเสียด
2. ทุกความเห็นต้องไม่มีการดูหมิ่น, กล่าวหาให้ร้าย, สร้างความแตกแยก หรือ "กระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ"
3. ทางเว็บไซต์จะขอลบความคิดเห็นโดยทันที เมื่อความเห็นไม่เป็นไปตามข้อตกลง