
ชื่อวงศ์ : THYMELAEACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aquilaria malaccensis Lam.
ชื่อพ้อง : Aquilaria agallocha Roxb.
ชื่อสามัญ : wood tree, Lignum aloes, Agarwood, Aloewood, Calambac.
ชื่อพื้นเมืองอื่น : กายูการู, กายูกาฮู (มลายู-ปัตตานี) ; กฤษณา, ไม้หอม (ภาคตะวันออก , ภาคใต้) ; พวมพร้าว (พัทลุง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ยืนตัน (T) ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 18-25 เมตร ลักษณะของลำต้นตั้งตรง เปลือกลำต้นเรียบ สีเทา มีรอยด่างสีขาว กิ่งอ่อนมีขนอ่อนสีขาวปกคลุม เนื้อไม้หยาบอ่อน สีขาวมีเสี้ยน
ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน ออกเรียงสลับ ลักษณะใบรูปวงรีแกมขอบขนาน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ค่อนข้างแข็ง ปลายใบแหลม โคนใบมน เส้นใบแตกออกจากเส้นกลางใบ มีเส้นแขนงสานกันเป็นร่างแห แผ่นใบห่อตัวเข้ามาเล็กน้อย
ดอก ออกดอกเป็นช่อเล็ก ๆ ที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีเขียวอมเหลือง กลีบดอกมี 6 กลีบ โคนกลีบดอกติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ สีขาวแกมเขียว กลิ่นหอมฉุน
ผล ลักษณะรูปทรงกลมรี ปลายผลแหลม เปลือกแข็งมีขนสีเทา เมื่อแก่จะแตก กลีบเลี้ยงเจริญติดอยู่กับผล
นิเวศวิทยา
มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางเขตร้อนของเอเชีย เช่น ในประเทศมาเลเซีย จีน บอร์เนียว อินเดีย และสำหรับประเทศไทย มีมากในแถบของจังหวัดตราดและจันทบุรี
การปลูกและขยายพันธุ์
เติบโตได้ดีในที่มีอากาศร้อนชื้น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด โดยการนำเมล็ดเพาะไว้ในทรายจนกว่าจะงอก แล้วจึงค่อยย้ายใส่ถุงไว้ในเรือนเพาะชำก่อนที่จะนำไปปลูกลงดิน
ประโยชน์ทางยา
รสและสรรพคุณในตำรายา
เนื้อไม้ รสหอมสุขุม สำหรับคุมธาตุ บำรุงโลหิต แก้ตับปอดพิการ แก้ไข้เพื่อเสมหะและลม แก้ลมวิงเวียน บำรุงโลหิตในหัวใจ ทำให้หัวใจชุ่มชื้น แก้ปวดข้อ ต้มเอาน้ำดื่มแก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงและรักษาโรคหัวใจ โรคลม
น้ำมันจากเมล็ด รักษาโรคเรื้อน และโรคผิวหนัง
วิธีและปริมาณที่ใช้
- เข้ายาหอมบำรุงหัวใจ โดยใช้รวมกับสมุนไพรตัวอื่น ๆ เช่น เกสรทั้งห้า
- รักษาโรคเรื้อนหรือโรคผิวหนัง โดยใช้น้ำมันจากเมล็ดทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น เป็นประจำ
หมายเหตุ เนื้อไม้หอมเกิดจากการที่ต้นกฤษณาได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาจเกิดจากแมลงหรือการตัดฟัน ทำให้มีการขับสารน้ำมันหอมออกมาพอกตรงรอยบาดแผล เมื่อนานเข้าจะหนาขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เปลี่ยนจากเนื้อไม้ที่เบาเป็นหนักมากขึ้น บางต้นเกิดเป็นแท่งใหญ่ บางต้นไม่มีเลย เนื้อไม้นี้เมื่อนำมาสกัดด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันหอมที่เรียกว่า Agar-atar และ Chuwah
1. โปรดงดเว้นการใช้คำหยาบคาย, ส่อเสียด
2. ทุกความเห็นต้องไม่มีการดูหมิ่น, กล่าวหาให้ร้าย, สร้างความแตกแยก หรือ "กระทบถึงสถาบันอันเป็นที่เคารพ"
3. ทางเว็บไซต์จะขอลบความคิดเห็นโดยทันที เมื่อความเห็นไม่เป็นไปตามข้อตกลง