เตยหอม

ชื่อวงศ์ : PANDANACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus amartllifolius Roxb.

ชื่อพ้อง : Pandanus odorus Ridl.

ชื่อสามัญ : Pandom wangi

ชื่อพื้นเมือง : หวานข้าวไหม้ (ภาคเหนือ) ; เตยหอม (กรุงเทพฯ) ; ปาแนะวองิง (มลายู-นราธิวาส) ; พังลั้ง (จีน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่ม (ExS) มีความสูงประมาณ 2-3 ฟุต ลำต้นกลม เป็นข้อถี่ ๆ อยู่ใต้ดิน เรียกเหง้าหรือหัว แตกกอขนาดใหญ่ ส่วนที่โผล่ขึ้นมาเหนือดินเป็นเพียงกาบก้านใบ

ใบ แตกจากลำต้นใต้ดิน เวียนสลับรอบต้น ลักษณะใบรูปขอบขนาน ใบยาวและแคบ โคนใบสอบเรียว ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน ใบมีกลิ่นหอม ภายในใบจะมีสารสีเขียวซึ่งสามารถนำมาผสมอาหารได้อย่างปลอดภัย

นิเวศวิทยา

พบขึ้นตามที่ลุ่มชุ่มชื่นทั่วๆ ไป นิยมปลูกไว้ใช้ภายในสวนครัวของบ้านเรือน เพื่อใช้ในการประกอบอาหารและเป็นยา

การปลูกและขยายพันธุ์

เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นและแฉะ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อหรือเหง้า แยกต้นที่เกิดใหม่มาปลูก

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ต้นและราก รสหวานเย็นหอม แก้กระษัยน้ำเบาพิการ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ที่มีพิษร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษตานซาง

ใบ รสหวานเย็นและหอม ช่วยบำรุงหัวใจ ดับพิษไข้ เป็นยาชูกำลัง แก้กระษัยน้ำ แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ เบาพิการ หรือใช้ใบเตยต้มรวมกับเนื้อไม้สักหรือใบไม้สักดื่มจะช่วยแก้โรคเบาหวาน

วิธีและปริมาณที่ใช้

  • บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น แก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับปัสสาวะโดยใช้ใบสด 1 กำมือ หรือประมาณ 50 กรัม ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นท่อนแล้วโขลกให้ละเอียด เติมน้ำเล็กน้อยคั้นเอาน้ำดื่ม อาจจะมีการเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวานก็ได้

ข้อควรทราบ

  • ใบเตยจะให้สีเขียวและมีน้ำมันหอมระเหย ที่มีกลิ่นน่ารับประทาน เรียกว่า Fragrant Screw Pine ทำให้อาหารที่ใส่น้ำใบเตย มีรสหอมเย็นชื่นใจ

สิ่งที่น่าสนใจ