พลับพลึง

ชื่อวงศ์ : AMARYLLIDACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crinum amable Don (พลับพลึงดอกแดง) ; Crinum asisticum L. (พลับพลึงดอกขาว)

ชื่อสามัญ : Giant lily (พลับพลึงดอกแดง) ; Cape lily, Crinum lily (พลับพลึงดอกขาว)

ชื่อพื้นเมือง : พลับพลึง, พลับพลึงดอก (ภาคกลาง) ; ลินัว (ภาคเหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก (H) ที่มีลำต้นใต้ดิน ลักษณะคล้ายหอมหัวใหญ่ มีโคนก้านใบหนาอวบหุ้มซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เนื้อในหัวสีขาว โคนลำต้นที่โผล่เหนือดินสีขาวปนเขียว มีเหยื่อหุ้มสีน้ำตาล เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่หน่อจะแตกรอบๆ ต้น

ใบ เป็นใบเดี่ยว ลักษณะใบรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียว ใบจะห่อเล็กน้อย แตกใบหมุนเวียนรอบๆ ต้น ดูสง่างาม

ดอก ออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว ตอนปลายมีดอกเป็นกระจุกอยู่บนก้านดอกสั้น ๆ เมื่อดอกยังอ่อนอยู่มีกาบสีเหลืองอ่อน ๆ หุ้มอยู่ 2 กาบ กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม กลีบดอกติดกันตอนโคนเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็นกลีบแคบๆ ยาวเรียวแหลม 6 กลีบ เกสรตัวผู้ 6 อัน ติดอยู่ที่หลอดดอกตอนโคน ส่วนตอนปลายเรียวแหลมยาว ปลายเกสรสีแดง โคนขาวอับเรณูสีน้ำตาล

ผล สีเขียวอ่อน ค่อนข้างกลม

นิเวศวิทยา

ขึ้นตามที่ชื้นแฉะทั่วไป นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เจริญเติบโตได้ดีทั้งในที่ร่มรำไร หรือแสงแดดจัด

การปลูกและขยายพันธุ์

ปลูกในดินร่วนปนทราย ขยายพันธุ์ด้วยหัวหรือหน่อที่แตกออกมารอบ ๆ ต้นเดิม

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ใบ รสเอียน ทำให้อาเจียนเป็นเสมหะ รักษาฝีได้ทุกชนิด เช่น ฝีร้อยประคำ ฝีม่วง แก้อาการปวดเมื่อยตามข้อ เคล็ดขัดยอก  ช้ำ บวม ฟกช้ำดำเขียว หรือพันตามอวัยวะที่เคล็ดขัดยอก บวมแพลง ถอนพิษได้ดี

ต้น รสขม ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะและระบบน้ำดี

เมล็ด รสเฝื่อนขม เป็นยาบำรุง ยาระบาย ขับประจำเดือน และขับปัสสาวะ

ในประเทศอินเดีย ใช้หัวซึ่งมีรสขม เป็นยาบำรุงกำลัง ยาระบายและขับเสมหะทำให้อาเจียน คลื่นเหียน รักษาโรคเกี่ยวกับน้ำดีและโรคที่เกี่ยวกับปัสสาวะ ในหัวมี Alkaloid Narcissine, ในรากก็มีสาร Alkaloid Narcissine และ Crinamine รากสด ๆ ทำให้อาเจียน เหงื่อออกมาก คลื่นเหียน เมล็ดเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ขับโลหิตประจำเดือนและเป็นยาบำรุง สำหรับสรรพคุณที่ใช้เป็นยาทำให้อาเจียนนั้น ไม่ใคร่จะนิยมใช้กัน

ในประเทศมาเลเซีย ใช้ใบพลับพลึงอย่างเดียว หรือ บางทีก็ใช้ปนกับชนิดอื่น ๆ โขลกส่วนที่ปวด ลดอาการไข้ ปวดศีรษะ และแก้บวม บางทีก็ใช้หัวมาหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ ใช้แทนใบแก้ปวดบวม

ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้แก้พิษยางน่อง โดยเคี้ยวรากให้แหลกจนเป็นน้ำ กลืนเอาน้ำเข้าไป จะทำให้อาเจียนเอาพิษร้ายออกมา แล้วก็โขลกเอาพอกแผลอีกครั้งหนึ่ง

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. รักษาฝี โดยใช้ใบสด 1-2 ใบ ล้างให้สะอาดนำมาโขลกให้ละเอียดผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ทาและพอกบริเวณที่เป็นเช้า-เย็น จนกว่าจะหาย
  2. แก้อาการปวดเมื่อยตามข้อ เคล็ดขัดยอก ช้ำ บวก ฟกช้ำดำเขียว ถอนพิษ โดยใช้ใบสด 1-2 ใบ ล้างให้สะอาด นำไปย่างไฟให้สุกหอม แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการจนเย็น ค่อยนำไปย่างไฟใหม่แล้วนำมาประคบอีก 3-5 รอบเป็นประจำ เช้า-เย็น

ข้อควรทราบ

  • พลับพลึงดอกแดงเป็นไม้ล้มลุกที่นำมาจากต่างประเทศ (ExH) สูงประมาณ 1-2 เมตร มีลำต้นใต้ดินสีน้ำตาลแกมเทาจนถึงสีน้ำตาลแกมสีส้ม เนื้อในสีเหลืองอ่อนมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ส่วนใบ หน้าใบมีสีเขียวอ่อน ท้องใบมีละอองบรอนซ์สีแดงอ่อน เนื้อใบละเอียด กาบใบมีสีแดงหรือสีแดงปนเขียวอ่อน ดอกมีสีขาวหรือสีชมพูอ่อนหรือสีม่วงแดง กล่าวโดยสรุปได้ว่า พลับพลึงดอกแดงเหมือนพลับพลึงดอกขาวทุกอย่าง แตกต่างกันที่ดอกมีขนาดใหญ่กว่า กลีบดอกสีขาว และมีแถบสีแดงเป็นทางยาวอยู่ทางด้านหลังของกลีบ ส่วนลำต้นและใบมีขนาดสูง และใหญ่กว่าชนิดดอกขาว สรรพคุณทางยาเหมือนกับพลับพลึงดอกขาวทุกประการ
blank

สิ่งที่น่าสนใจ