กกรังกา

ชื่อวงศ์ : CYPERACEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyperus involucratus Rottb.

ชื่อพ้อง : Cyperus alternifolius L. subsp. flabelliformis (Rottb.) kuk

ชื่อสามัญ : Umbrella plant

ชื่อพื้นเมืองอื่น : กกรังกา, หญ้ากก (กรุงเทพฯ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้ล้มลุก (ExH) มีอายุหลายปี ลำต้นใต้ดินสั้นและแข็ง ลำต้นเหนือดินขึ้นเป็นกอ สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร ลักษณะของลำต้นตรงไม่มีกิ่งก้านรูปสามเหลี่ยมมน ๆ ที่โคนต้นเกือบกลม ลำต้นที่อยู่ใต้ช่อดอก สากหุ้มด้วยกาบที่ปราศจากใบ กาบที่โคนมีสีเขียวอ่อน

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแผ่ซ้อน ๆ กันอยู่ อยู่ปลายยอดของลำต้น ลักษณะใบรูปหอกแกมขอบขนานหรือรีแบน ยาว มีใบสีเขียว ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ใต้ท้องใบสาก ลำต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 18-25 ใบ

ดอก ออกดอกเป็นช่อแผ่กว้าง ซ้อนกันสองชั้น ชั้นแรกมีจำนวนมาก ยาว 6-10 ซม. ชั้นที่สองแยกจากชั้นแรกอีกอันละ 4-10 แขนง ยาว 1-2 ซม. ใบประดับมีจำนวนมากเกือบเท่ากัน แข็ง แบน ช่อย่อย ๆ ติดเป็นกระจุกอยู่ที่ปลายของช่อดอกชั้นที่สอง รูปหอกแกมขอบขนานหรือรี มีดอกติดกันแน่น 6-30 ดอก สีเขียวอ่อน แกนกลางช่อไม่มีครีบ ใบประดับช่อย่อยรูปไข่ ปลายแหลม อ่อนนุ่มสีเขียว ปลายสีน้ำตาล มี 3 หรือ 5 เส้น เป็นรูปเรือเห็นเด่นชัด

ผล รูปไข่กลับแกมรูปรี ผลแก่สีน้ำตาล มีท่อรังไข่ติดอยู่ยาวเท่ากับผล ปลายแยกเป็นแฉกยาว 3 แฉก

นิเวศวิทยา

มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะเวสต์อินดีส อเมริกาใต้ ทวีปแอฟริกา มีผู้นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ และกระจายไปตามที่ลุ่มทั่วไป

การปลูกและขยายพันธุ์

เป็นพันธุ์ไม้ที่มักจะขึ้นตามบริเวณที่ลุ่มน้ำท่วมถึง เป็นโคลนหรือน้ำ เช่น ข้างแม่น้ำ ลำคลอง สระ หรือบ่อน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อหรือเมล็ด

ประโยชน์ทางยา

รสและสรรพคุณในตำรายา

ราก รสขมเอียน น้ำต้มรากดื่มแก่ช้ำใน และอาการตกเลือดจากอวัยวะภายใน ขับเลือดเสียออกจากร่างกาย

เหง้าหัวใต้ดิน รสขมเอียน ต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ ขับน้ำลาย และขับเสมหะเป็นยาแก้เสมหะเฟื่อง แก้ธาตุพิการ และเป็นยาทำให้อยากอาหาร

ลำต้น รสจืดเย็น นำมาต้มเอาน้ำดื่ม ช่วยขับน้ำดีให้ตกลงลำไส้ ขับลมในลำไส้ ซึ่งรสจืดเย็นใช้ในการขับปัสสาวะ รสขม รักษาน้ำดี สร้างน้ำดี โลหิต และแก้เสมหะ

ใบ รสเย็นเบื่อ ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิซึ่งเป็นตัวนำเชื้อโรคทั้งหมด โขลกพอกฆ่าพยาธิบาดแผล ต้มเอาน้ำดื่มฆ่าพยาธิหรือเชื้อโรคภายใน (ฆ่าพยาธิที่เป็นพวกแบคทีเรียหรือเชื้อรา ไม่ใช่พยาธิปากขอ ไส้เดือน)

ดอก รสฝาดเย็น น้ำต้มดอก ใช้อมกลั้วคอแก้โรคในปาก เช่น แผลเปื่อยเป็นแผลพุพอง หรือปากซีด

วิธีและปริมาณที่ใช้

  1. เป็นยาบำรุงร่างกาย เจริญอาหาร ขับน้ำดี โดยใช้เหง้าและลำต้นสด 3-5 ต้นหรือประมาณ 30-50 กรัม ล้างน้ำให้สะอาดสับเป็นท่อน ต้มในน้ำให้เดือด 1-2 ลิตร ประมาณ 10-15 นาที กรองเอาน้ำ ดื่มวันละ 2-3 เวลา
  2. แก้แผลเปื่อยพุพองในปาก หรือโรคในปาก โดยใช้ดอกสด 10-20 กรัม ต้มในน้ำสะอาด 1 ลิตร เคี่ยวให้เหลือครึ่งหนึ่ง กรองเอาน้ำอมกลั้วคอ

สิ่งที่น่าสนใจ